แสนดี ตู้แลกเหรียญ สร้างเศรษฐีตู้หยอดเหรีญ

| วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558


ใครจะคิดว่า 'ภาวะขาดเหรียญ' จะเป็นปัญหาใหญ่ในชีวิต ตราบเท่าที่ต้องใช้บริการจากเหล่า'เครื่องอัตโนมัติ'นี่คือที่มาของตู้แลกเหรียญ'แสนดี'

ลองสำรวจผู้คนกว่า 400 ตัวอย่าง เพื่อดูพฤติกรรมการใช้ตู้หยอดเหรียญ พบว่า ที่นิยมสูงสุดก็ ตู้กดน้ำดื่ม และเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ รองลงมาคือ ตู้เติมเงินมือถือ ตั๋วรถไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์สาธารณะ และตู้เล่นเกม ดูกันแค่ 6 อันดับแรก ก็พบว่าสามารถใช้เหรียญ 10 ได้ ขณะที่ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ใช้ได้แค่เหรียญสิบเท่านั้น

ว่ากันง่ายๆ คือ “เหรียญสิบ” สำคัญที่สุดสำหรับการใช้เครื่องหยอดเหรียญ

แต่พอลองสำรวจเงินในกระเป๋ากลุ่มตัวอย่าง กลับพบว่า คนที่มีเหรียญ 10 เกิน 2 เหรียญมีแค่ 7% เท่านั้น เหรียญ 10 กลายเป็นของหายาก ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าถ้าคิดจะไปแลกเหรียญที่ธนาคาร โดยไม่มีการจองล่วงหน้า พบว่าการแลกเหรียญ 10 แค่ 600 เหรียญ ต้องใช้ถึง 12 ธนาคาร 12 สาขา!

นี่คือข้อมูลจากการทำวิจัยของ บริษัท เซอร์บ็อกซ์ จำกัด พลพรรคนักคิดและรับจ้างผลิต ระบบหยอดเหรียญ ระบบตู้เติมเงินออนไลน์ ให้กับแบรนด์ทั่วราชอาณาจักรไทย พวกเขาเสาะหาข้อมูลและประเมินโอกาสธุรกิจ จนได้ไอเดีย “ตู้แลกเหรียญอัตโนมัติ” ผู้ช่วยแสนดีของคนอยากใช้บริการเครื่องหยอดเหรียญ

“เราเริ่มเห็นสัญญาณว่า พวกที่ใช้ระบบหยอดเหรียญเริ่มอิ่มตัว ไม่ใช่เพราะไม่มีคนใช้นะ ดูได้จากที่มีหลายเจ้าทำ ทั้งนำเข้า ทั้งผลิตในประเทศ และรายได้ก็ดีด้วย แต่สิ่งที่ขาดคือ เหรียญที่จะใช้ เรื่องนี้พื้นๆ มาก แต่คือเรื่องจริง และเราก็ไม่ได้คิดเอง แต่มีงานวิจัยมารองรับ”

“ชนินทร์ ปิ่นแก้ว” R&D Manager บริษัท เซอร์บ็อกซ์ จำกัด ที่ควงคู่มากับผู้ร่วมธุรกิจ“กิตติศักดิ์ รักธรรม” Production Manager บอกที่มาของตู้แลกเหรียญอัตโนมัติ สินค้าตัวแรกภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ที่ชื่อ “แสนดี” ซึ่งดูหวานในภาษาไทย และให้ต่างชาติออกเสียงง่ายๆ ในภาษาอังกฤษว่า “แซนดี้”

“แสนดี” ไม่ใช่ตู้ทำเงิน แต่เป็นตู้ที่จะไปสนับสนุนให้เหล่าเครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติทำเงินได้มากขึ้น

“เราใช้วิธีเอาตู้แลกเหรียญไปวางในสถานที่ให้บริการเครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติ แล้วเทียบรายได้ก่อนและหลัง ซึ่งพบว่า หลังมีตู้แลกเหรียญ รายได้ของเครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติ เพิ่มมาที่ประมาณ 10-32% แสดงว่าแต่ละเครื่องสามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้น ขณะที่ลูกค้าก็เพิ่มปริมาณขึ้นจากการมาใช้บริการได้ตลอดทั้งคืน เพราะมาเมื่อไรก็มีเหรียญใช้”



หลายคนอาจคิดว่า นี่ก็แค่เรื่อง “ขาดเหรียญ” แต่พวกเขามองว่า นี่คือการ "สูญเสียรายได้และโอกาสทำเงิน" อย่าง ตู้เกมในห้างฯ มีโต๊ะแลกเหรียญก็จริง แต่ต้องจ้างพนักงานดูแล ที่ต้องมีเวลาเบรก เวลาพัก นักศึกษาหญิงที่อยากใช้บริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญพอไม่มีเหรียญก็เลือกซักผ้าเอง รายได้ก็หายไปแล้ว 30-40 บาท ขณะฟาร์มซักผ้า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตามหอพัก ก็มักมีกรณีทะเลาะวิวาทกับแม่ค้าร้านใกล้เคียงอยู่เสมอๆ เพราะเบื่อกับคนต้องแวะเวียนมาแลกเหรียญ

นี่คือสิ่งที่พบจากการลงไปเกาะติดภาคสนาม และศึกษาความเป็นไปได้ ก่อนผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ใช่สักแต่ว่าเครื่องแลกเหรียญ แต่คือ การทำของดีมีคุณภาพสูง ใช้ง่าย ปลอดภัย ดูแลรักษาได้ด้วยตัวเอง

“ตัวเครื่องเราเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย เพราะไม่อยากบำรุงรักษาบ่อย จะเห็นว่าพวกอุปกรณ์ต่างๆ เป็นของมาตรฐานทั้งสิ้น ซึ่งซัพพลายเออร์รับประกัน 3-4 ปี นั่นหมายความว่า เขาดูแลลูกค้าแทนเรา อย่างอุปกรณ์ควบคุมเราสั่งผลิตจากไต้หวัน เพราะเทคโนโลยีการผลิตเขาสูง และควบคุมโดยเมืองไทย ทำให้ต้นทุนถูก สามารถควบคุมต้นทุนได้ ส่วนการก๊อปปี้ ในระดับความซับซ้อนที่น้อยขนาดนี้ ผมว่าง่ายนะ แต่ที่เขาไม่ค่อยทำกันเพราะค่าแรงของคนทำงานนี้สูงและหาคนทำยาก”

เขาบอกเรื่องจริงในสนาม ที่ทำให้ผู้เล่นในฐานะคนผลิตยังน้อย เมื่อค่าแรงคนทำไม่ใช่ของถูก

ขณะสินค้าที่ทำออกมาก็รับวิถีคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้ต้องการเสพ “อะไรก็ได้” แต่ต้องดูดี มีแบรนด์ มีไลฟ์สไตล์ จึงดีไซน์ออกมาให้ดูดี ที่สำคัญอยู่ในราคาที่จับต้องได้ นั่นคือตู้ละ 29,000 บาท หนึ่งตู้บรรจุ 1,250 เหรียญ และสามารถเติมเหรียญคืนได้ง่ายๆ การใช้บริการก็แค่ ใส่แบงก์มูลค่าเท่าใดก็ได้เหรียญสิบคืนกลับมามูลค่าเท่านั้น เพราะแสนดีไม่ใช่ตู้ทำเงิน แต่ไปสนับสนุนบรรดาตู้อัตโนมัติให้ทำเงินเพิ่มขึ้นเท่านั้น

บางคนอาจพ้อว่าก็แค่ตู้แลกเหรียญ ใครจะสนใจมากมายนัก แต่ใครจะคิดว่า เปิดตัวมาเพียง 4 เดือน แสนดีจะขายไปได้แล้วเกือบ 200 ตู้!

ที่สำคัญไม่ได้มีเพียงแค่นี้ เพราะในความธรรมดาของแสนดี มันถูกตกผลึกทางความคิดไว้หมดแล้ว โดยพวกเขาเตรียมพัฒนาเครื่องรุ่นใหม่ออกมา ที่ไม่ใช่แค่แลกเหรียญ 10 ได้ แต่พร้อมปรับให้รองรับตั้งแต่เหรียญ 10-5-2-1 บาท รวมถึงเหรียญโทเค่น และรองรับธนบัตรได้ถึง 45 ประเทศ เพื่อเปิดตลาดแสนกว้างใหญ่ โดยเฉพาะหลังการมาถึงของ AEC

“ตอนนี้เราเริ่มส่งออกไปที่พม่ากับลาว โดยขายไปยังกลุ่มคาสิโน ที่ต้องใช้เหรียญชิพสำหรับเล่นพวกนี้ มองว่า หลังอาเซียนเปิด ยังมีโอกาสธุรกิจอีกเยอะมาก และจะเห็นอะไรอีกเยอะในธุรกิจของเรา”

หนึ่งธุรกิจใหม่ที่กำลังจะปรากฏโฉมในปีนี้ ก็คือ โมเดล Vending City เรียกว่าแทนที่จะขายตู้แลกเหรียญเดี่ยวๆ ก็ขายยกแพคไปกับเหล่าเครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติ โดยตลาดธรรมดา ก็ใช้ตัวตู้แลกเหรียญเป็นหลัก เช่นไปวางคู่กับตู้เกม แต่เมื่อตลาดนี้เต็ม ก็จะขายเป็นลักษณะแฟรนไชส์ คือขายยกคอนเซ็ปต์ทั้งระบบ หลักๆ คือ มีเครื่องซักผ้า ตู้อบผ้า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญน้ำ และที่ไฮเอ็นสุดๆ ก็พวก ตู้จำหน่ายอาหาร เหมือนในประเทศญี่ปุ่น ที่สำคัญแก้ปัญหาเรื่องเหรียญไม่พอ โดยใช้การควบคุมด้วยระบบออนไลน์ สามารถสอดธนบัตร และทอนเงินได้ในตัวเองในเครื่องเดียว

“เราจะทำเป็นระบบแฟรนไชส์ แล้วหาพาร์ทเนอร์ที่เป็นผู้ผลิตของพวกนี้ โดยที่เราจะออกแบบใหม่ทั้งหมด ซึ่งในฟาร์มของแสนดีจะเห็นเครื่องอัตโนมัติที่เหมือนขนมาจากทั่วโลก ในตีมเดียวกันหมด..เราไม่ได้ขายแค่บริการแต่จะขายไลฟ์สไตล์ด้วย”

เขาบอกอนาคตของธุรกิจที่ยังรอการเติบโตทั้งในและนอกบ้าน เพียงปรับตัวให้ทันกับโอกาสที่มาเยือนเท่านั้น

การได้รู้จักผู้บริหารนักคิดอย่าง “ชนินทร์” เราไม่ได้เห็นเพียงโอกาสในธุรกิจใหม่ของเอสเอ็มอีสายเลือดไทย แต่ยังได้เห็นความมุ่งมั่นและเพียรพยายามของคนหนุ่มอย่างเขา ที่เข้ามาในวงการนี้ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และมีธุรกิจของตัวเองตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นปี 2 หลายอย่างไม่ได้มีสอนในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ต้องอาศัย เรียนรู้ด้วยเอง ฝึกฝน อดทน และไม่เกี่ยงงาน

"บังเอิญผมชอบทางด้านนี้ ก็เลยไปได้เร็วกว่าคนอื่น สมัยก่อนผมทำงานตั้งแต่ 9 โมง เลิก 3 ทุ่ม แต่ได้เงินเดือนเท่าพนักงานบริษัททั่วไป แต่ผมทำเพราะอยากรู้ อยากทำ ระหว่างเรียนก็ขอไปฝึกงานเอง เริ่มจากปิดเทอมก็ไปทำงาน และเริ่มมีธุรกิจของตัวเอง ตั้งแต่ประมาณปี 2 เทอม 2 ทำพวกระบบเติมเงินออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดผมใช้วิธีเรียนรู้ ลองผิดลองถูก ค่อยๆ ทำ และทำเพราะอยากทำ ผมคิดว่าทุกอย่างต้องเริ่มจากความอยากก่อนมันถึงจะสำเร็จได้”

คนหนุ่มวัย 27 ปี บอกที่มาของความสำเร็จมีธุรกิจตั้งแต่วัยละอ่อน แม้เป็นคนรุ่นใหม่ แต่ไม่ได้ทำอะไรที่บุ่มบ่าม ทว่าจะเดินหน้าธุรกิจได้ ก็ต้องมีข้อมูลมารองรับ เพื่อป้องกันความเสี่ยงและสร้าง "แต้มต่อ" ตั้งแต่เริ่ม



ที่มา...http://www.bangkokbiznews.com/

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Next Prev
▲Top▲