พี่เพ็ท ตู้รีไซเคิลทำเงิน ธุรกิจขายขวด

| วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556
เทคโนโลยีสร้างอาชีพ การรีไซเคิลขวดเพ็ทนี้นอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกเม็ดใหม่ เป็นการลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ แนวคิด “รักษ์โลก” ยังเป็นเรื่องที่ไม่เคยล้าสมัย
การแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้แบบที่เรียกว่า “รีไซเคิล”
จึงยังเป็นแนวคิดที่ไม่เคยตกเทรนด์ เป็นหนทางการรักษ์โลกที่สร้างให้คนจำนวนไม่น้อยรวยด้วย “ขยะ” มาแล้ว เส้นทางการไปสู่รีไซเคิลนั้นจะต้องพึ่งเหล่าแมสเซ็นเจอร์ของเหลือทิ้งอย่าง ซาเล้ง หรือ เจ๊กขายขวด เป็นสะพานส่งผ่านสู่โรงงานรับซื้อขยะอีกที จะขายกันกี่ขวด กี่โล กี่บาท ก็ว่ากันไป นั่นเป็นวิธีที่รู้และทำกันมานาน แต่มาถึงยุคนี้ ยุคไฮเทคมากมาย ไอทีเฟื่องฟู “เจ็กขายขวดไฮเทค” อย่าง “พี่เพ็ท” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก กว่าจะเป็น “พี่เพ็ท” “พี่เพ็ท” เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในงานประกวดนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2554 ในชื่อ “ผลิตภัณฑ์ P’PET เครื่องรับซื้อขวดพลาสติกรีไซเคิล” ผลงานนี้มีรางวัลชมเชยมาการันตี เจ๊กขายขวด พ.ศ.นี้ใช้ความไฮเทคมาเป็นความโดดเด่น เพราะเจ้าเครื่องนี้สามารถซื้อ-ขายขวดกันได้ง่ายๆ เพียงแค่หยอดขวดปั๊บ รับตังค์ปุ๊บ เรียกง่ายๆ ว่า เครื่องนี้เป็น “เจ๊กขายขวดไฮเทค” ก็ว่าได้ คุณปรีชา อนันต์ชล ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม 1 ใน 12 ของทีมผู้ผลิต ในนามของ บริษัท แอสซีส ครีเอชั่น จำกัด เล่าถึงที่มาที่ไปของเจ๊กขายขวดไฮเทคนี้ว่า เกิดจากความคิดที่ต้องการจะแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทาง โดยมองที่ขวดเพ็ทเป็นสำคัญ เพราะผลจากการสำรวจพบว่า ด้วยคุณสมบัติที่โปร่งใส สวยงาม เหนียว แข็งแรง ทนทาน ไม่แตกง่าย น้ำหนักเบา ทนร้อน-เย็น ราคาถูก จึงทำให้ผู้บริโภคหันมานิยมใช้ขวดเพ็ทกันมากขึ้นทุกขณะ บทบาทยิ่งมาก ยิ่งถูกใช้มาก ก็ยิ่งกลายเป็นขยะมาก ขวดเพ็ท ขวดพลาสติกใสแจ๋วราวกับแก้ว จึงกลายเป็นหนึ่งในพระเอกขยะที่ติดชาร์ตตลอดกาล แต่ไม่เป็นไร...


 เพราะพ่อพระเอกที่ว่านี้เขา “รีไซเคิล” ได้
การรีไซเคิลขวดเพ็ทนี้นอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกเม็ดใหม่ เป็นการลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นจำนวนมหาศาล 6 เดือน สำหรับการประมวลและระดมความคิด คิดค้นทั้งรูปแบบ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ รวมถึงการว่าจ้างดีไซเนอร์ออกแบบรูปลักษณ์เพื่อความสวยงาม สะดุดตา สะดวกใช้ และอีก 6 เดือนสำหรับการลงมือผลิต พี่เพ็ทจึงสำเร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่าง สะดวกใช้ เพิ่มความต่าง จะว่าไปแล้ว ตู้รับซื้อขวดแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นตู้แรกของโลก เพราะในต่างประเทศก็มีให้บริการไม่น้อย แต่จะออกมาในรูปของการคิดราคามัดจำขวดไปก่อนและเมื่อนำขวดมาคืนโดยหยอดขวดลงไป ค่าตอบแทนจะออกมาเป็นคูปองไปแลกส่วนลดสินค้า หรือร้านค้าที่ร่วมโปรโมชั่นกันไว้ จากบทสำรวจพบว่า วิธีการที่ใช้ในต่างประเทศนั้นไม่ถูกกับนิสัยของคนไทย ทีมงานจึงเพิ่มความสะดวกโดยออกแบบให้ตู้นี้พร้อมใช้สามารถซื้อ-ขายได้ในทันที ผู้ใช้บริการต้องผ่านการเป็นสมาชิก เพียงใช้บัตรประชาชนสแกนกับเครื่อง ก็สามารถทำการซื้อ-ขายขวดเพ็ทได้ทันทีตามราคาตลาด หรือเท่ากับซาเล้งทั่วไป โดยสามารถเลือกที่จะรับเป็นเงินสด บริจาคหน่วยงานต่างๆ หรือรับส่วนลดจากร้านค้าได้ตามประสงค์ ถ้าไม่ประสงค์จะใช้บริการใดๆ ก็สามารถเก็บสะสมจำนวนเงินไว้ก่อน โดยระบบจะทำการเก็บยอดบัญชีนั้นไว้ โดยผู้ใช้บริการสามารถเช็คยอดเงินได้เหมือนระบบเอทีเอ็ม การซื้อ-ขายนี้ขอย้ำว่า ต้องเป็นขวดเพ็ทเท่านั้น โดยเครื่องจะทำการตรวจเช็คสเปกขวดว่า เป็นขวดเพ็ทหรือไม่ มีน้ำอยู่ในขวดหรือไม่ เปิดฝาแล้วหรือไม่ ขวดยังคงรูปเดิมหรือไม่ และยังมีฉลากอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ตรงสเปกดังกล่าว เครื่องจะคืนขวดออกมาทันที สำหรับขวดที่ถูกสเปกก็จะผ่านเข้าสู่กระบวนการตัด ย่อย บด เพื่อสะดวกในการเก็บส่งต่อไป คุณปรีชา เล่าว่า “เราต้องเช็คขวดเพื่อความสะดวกในการจัดแยกขยะและความถูกต้องโดยการสแกนฉลากหรือบาร์โค้ดขวด และคิดเงินจากการคำนวณน้ำหนักขวดขนาด 300-2,000 ซีซี ต่อตู้สามารถเก็บได้มากถึง 100 กิโลกรัม โดยทางบริษัทได้ทำการติดต่อกับบริษัท อินโดรามา ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ที่สุดของประเทศ และยังเป็นผู้นำเรื่องการรีไซเคิลขวดเพ็ทที่ระยอง ไว้แล้ว” บุกบริษัทใหญ่-เปิดแฟรนไชส์ ในปีหน้านี้ แอสซีสฯ วางแผนที่จะพาพี่เพ็ทออกสู่ตลาด


  โดยวางแผนที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมาย 2 ช่องทาง คือ - บริษัทขนาดใหญ่หรือหน่วยงานใหญ่ โดยองค์กรเหล่านี้อาจจะมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องหรือเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องซีเอสอาร์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการติดต่อประสานงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บุญรอด บริวเวอรี่ และไทยน้ำทิพย์ เป็นเบื้องต้น นอกจากนั้นทางสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จะช่วยหาช่องทางการขายให้อีกทาง นอกจากนั้น ค่าขวดที่ซื้อขายผ่านตู้แล้ว องค์กรใหญ่ผู้ซื้อเครื่องไปสามารถจะเลือกที่จะเปลี่ยนสี เปลี่ยนโลโก้เพื่อโฆษณาบนตัวเครื่องได้ตามใจ โดยทางบริษัทแอสซีสฯ จะรับจัดการแปลงโฉมให้ทั้งหมด และยังสามารถมีหนังโฆษณาฉายบนจอแอลซีดีหน้าเครื่องแบบเดียวกับตู้เอทีเอ็มได้อีกด้วย รวมถึงการสร้างเงื่อนไขพิเศษให้กับขวดน้ำไซซ์พิเศษแบรนด์ของตัวเองได้อีกด้วย โดยสามารถเซ็ตโปรแกรมให้โดยเฉพาะ โดยทางบริษัทแอสซีสฯ จะรับหน้าที่บำรุงรักษา ดูแลเครื่อง และเป็นผู้จัดเก็บเศษขวดไปขาย ส่วนสนนราคาซื้อขายนั้นกำหนดการซื้อเริ่มต้นที่ 200 เครื่อง ราคานั้นเริ่มที่เครื่องละ 400,000 บาท ซึ่งราคาสามารถต่อรองกันได้ - ลูกค้ารายย่อยหรือแฟรนไชซี พี่เพ็ทรูปทรงออริจินอลยังพร้อมกระจายสู่ชุมชนทำหน้าที่แทนยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ซาเล้งในรูปแบบของแฟรนไชส์ โดยเล็งเป้าหมายไว้ตามโรงเรียน มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ หรือตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มีการกำหนดสัดส่วนรายได้ไว้ที่ 40-40-20 40 เปอร์เซ็นต์แรกให้กับผู้นำขวดมาขาย อีก 40 เปอร์เซ็นต์ ให้กับแฟรนไชซีหรือนักลงทุน และ 20 เปอร์เซ็นต์ ให้กับบริษัทแอสซีสฯ เป็นค่าดำเนินการในการดูแลรักษา ทำความสะอาดเครื่อง จัดเก็บและนำขยะขาย การเติมสตางค์ในตู้ รวมถึงการหาโฆษณาผ่านหน้าจอแอลซีดี และหากมีโฆษณาเข้าจะมีการแบ่งรายได้กับบริษัทอีก 50-50 (หารกับจำนวนเครื่อง) สำหรับผู้ที่สนใจที่ต่างจังหวัดนั้น เริ่มต้นขายที่ 20 เครื่อง (ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าเดียว) ทางบริษัทจะไปเปิดศูนย์ดำเนินงานเพื่อความสะดวกในการบริการให้ทันที ทั้งนี้สามารถติดต่อพูดคุยกันได้อยู่ที่การตกลงเงื่อนไขกันภายหลัง เงื่อนไขรูปแบบนี้ จัดให้ในราคาเครื่องละ 400,000 บาทเช่นกัน โดยตั้งเป้าว่า จะมีแฟรนไชซีที่สนใจอยู่ที่เดือนละ 30-40 เครื่อง หรือตกปีละ 400-500 เครื่อง โดยคาดว่าจะคืนทุนได้ภายใน 2.5 ปี พัฒนาต่อไปสร้าง Brother Green แม้จะยังไม่ออกสู่สายตาประชาชนอย่างเป็นทางการ บริษัทแอสซีสฯ ยังเตรียมที่จะปรับปรุงโฉมให้พี่เพ็ทสะดวกใช้มากยิ่งขึ้น โดยทำการปรับฟังก์ชั่นจากปุ่มกดแบบเอทีเอ็ม มาเป็นแบบทัชสกรีนเพื่อความทันสมัยและสะดวกในการใช้งาน ทั้งยังพัฒนาวิธีการรับขวดให้รวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น พร้อมกับเพิ่มเทคโนโลยีในการตัด-ย่อยขวดเป็นการหลอมเพื่อสะดวกในการจัดเก็บ ทั้งยังเป็นการลดขนาดตู้ให้เล็กลงเพื่อประหยัดพื้นที่ เป็นการลดค่าเช่าในการวางตู้ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีโครงการที่จะสร้างครอบครัวสีเขียว หรือที่เรียกว่า Brother Green อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในระยะอันใกล้อยู่ที่การสร้าง “พี่ป๋อง” รับซื้อกระป๋องแคน ก่อนจะไปสู่พี่ขุ่น พี่แก้ว ฯลฯ ต่อไป สนใจ “พี่เพ็ท” สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ บริษัท แอสซีส ครีเอชั่น จำกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทรศัพท์ (081) 446-1627, (081) 623-7555 โทรสาร (02) 399-1334 หรือ E-mail : angkul@hotmail.co.th ...................................... เตรียมพื้นที่ให้ “พี่เพ็ท” - ไฟฟ้า (น้อยมาก) เพื่อใช้หล่อเลี้ยงมอนิเตอร์และปฏิบัติงาน แต่กินไฟน้อยมาก - ระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์ ซึ่งเชื่อมกับเซิร์ฟเวอร์กลาง หรืออินเตอร์เน็ต 24 ชั่วโมง (คล้ายกับตู้เอทีเอ็ม) - สถานที่อยู่ในร่ม มีชายคา ไม่โดนฝน - ปลอดภัย มีแสงสว่าง - พื้นที่ที่รับน้ำหนักได้ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม ................................................. วิธีการใช้งาน 1. รับสมัครสมาชิก โดยการสแกนบัตรประชาชนกับเครื่อง โดยกำหนดรหัสผ่านเลข 4 หลักด้วยตัวเอง เพื่อล็อกอินเข้า 2. นำขวดเพ็ทถอดฝาออก เทน้ำทิ้งให้หมด แล้วสแกนบาร์โค้ดที่ฉลากข้างขวด 3. นำขวดใส่ที่ช่องรับขวด เมื่อหย่อนขวดลงไป เครื่องจะคำนวณราคาขวดตามน้ำหนัก 4. จากนั้นสามารถเลือกฟังก์ชั่นว่าจะเก็บออมเงิน, จ่ายเงิน ซึ่งจะได้ออกมาเป็นเหรียญ, บริจาคเงินให้หน่วยงานหรือมูลนิธิต่างๆ หรือแลกเป็นส่วนลดร้านค้า 5. ในตู้ก็จะทำการย่อยขวดให้เล็กลง เพื่อเป็นการประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ สามารถจุน้ำหนักได้ 100 กิโลกรัม โดยเมื่อถึง 80 กิโลกรัม จะมีสัญญาณเตือนไปยังเซิร์ฟเวอร์กลาง 6. สิ้นสุดการทำงาน ...................................................
 1.การสมัครสมาชิก ผู้ใช้บริการจะกดปุ่มสีเขียว แล้วนำบัตรประชาชนวางไว้ ณ ช่องรับบัตรดังภาพ เมื่อภาพตามบัตรประชาชนปรากฎยังหน้าจอมอนิเตอร์แล้ว ระบบจดจำภาพจะเริ่มทำงาน (Image Recognition) โดยใช้เวลาประมวลผลประมาณ 4-6 วินาที หลังจากนั้นหน้าจอมอนิเตอร์จะปรากฎข้อความให้ผู้ใช้บริการใส่หมายเลขบัตรประชาชน ดังภาพ
2.หลังจากนั้นที่หน้าจอมอนิเตอร์จะให้ผู้ใช้บริการใส่รหัส Password 4 หลัก ซึ่งเป็นการสิ้นสุดขั้นตอนการสมัครสมาชิกเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้บริการสามารถบรรจุขวดใส่ได้ทันทีโดยสแกนบาร์โค้ดของฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ก่อนแล้วจึงนำขวดหย่อนลงในช่องใส่ขวดดังภาพข้างต้น ทั้งนี้ผู้ใช้บริการจะต้องแยกฝาใส่ในช่องใส่ฝากก่อนมิฉะนั้นระบบกลไกภายในเครื่องจะส่งขวดกลับคืนมาที่ช่องรับขวดคืนดังภาพ
 3.เมื่อผู้ใช้บริการนำขวดพลาสติกที่มีอยู่บรรจุในเครื่องเรียบร้อยแล้วเครื่องจะทำการบดขวดพลาสติกเป็นเศษขนาด 2x1 ต.ร.ซ.ม. พร้อมทั้งคิดราคาตามน้ำหนักขวดที่ใส่ลงไป ดังภาพ
 4.ด้วยระบบ Image Recognition ผ่านกล้องภายในตัวเครื่องประกอบกับ Load Cell ที่ชั่งน้ำหนัก จึงทำให้ระบบสามารถทราบว่าภายในขวดมีสิ่งแปลกปลอมหลงเหลืออยู่หรือไม่ หรือเป็นการตรวจสอบว่าสิ่งที่ใส่มาตรงกับสิ่งที่ได้รับข้อมูลจากการสแกนบาร์โค้ดหรือไม่ ตลอดจนการทราบชนิดบรรจุภัณฑ์และน้ำหนักของขวด ซึ่งจะนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลบรรจุภัณฑ์ที่เก็บไว้ใน Sever ระบบจึงสามารถคัดกรองขวดที่ดีและขวดที่ไม่ดีออกได้ เมื่อเป็นขวดที่ดี ระบบกลไกของเครื่องจะส่งขวดลงไปบดยัง Shedder และได้เศษพลาสติกหลังการบด ดังภาพ 
5.ผู้ใช้บริการเมื่อบรรจุขวดที่มีอยู่เป็นที่เรียบร้อยแล้วและมียอดรวมเป็นเงินเกินกว่า 1 บาทแล้ว จะสามารถเลือกได้ว่าจะถอนเงินเลยหรือบริจาคหรือนำไปแลกรับส่วนลดร้านค้าดังตัวอย่างในภาพ
 6.ตัวเครื่องสามารถจ่ายเงินเป็นเหรียญที่ขั้นต่ำ 1 บาท หรือเหรียญ 5 บาท หรือเหรียญ 10 บาท ตามจำนวนเงินที่ผู้ใช้บริการสามารถสะสมได้

ที่มา...matichon.co.th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Next Prev
▲Top▲