ชาวเล ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลปรุงรส

| วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

ชาวเล ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลปรุงรสที่ต่อยอดมาจากธุรกิจค้าส่งอาหารทะเลกว่า4ทศวรรษ ถูกสานต่อด้วยพลังไอเดียของคนรุ่น

“ชาวเล..อยากให้ชาวไทยคิดมาก”

คำโฆษณาแสบๆ กวนๆ ชวนคนที่มีพฤติกรรม “ไม่ฉลาด” ให้ลุกมา “กินปลาบ้างก็ได้” คือ ผลงานของ “ชาวเล” ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป ที่กระจายมุกแสบสันสร้างกระแสอยู่ในโลกออนไลน์ ณ วันนี้

เบื้องหลังความสนุก ถูกบัญชาการโดย 3 พี่น้อง ตระกูล“หริรัตน์เสรี” ธนะรักษ์ ,คะนึงนิตย์ และ ธนะพงษ์ ทายาทเจน 3 ธุรกิจค้าส่งอาหารทะเลสดป้อนโรงงานอุตสาหกรรม แห่งเมืองสมุทรสาคร ที่อยู่ในสนามมากว่า 40 ปี วันนี้แตกหน่อสู่ ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป ภายใต้แบรนด์ “ชาวเล” บริษัท มารีนเนอร์ กรุ๊ป จำกัด ผลงาน “คูลๆ” ของคนรุ่น 3

“เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาวัตถุดิบ”

คนสืบทอดบอกหนึ่ง “แต้มต่อ” ที่สร้างความได้เปรียบในตอนเริ่มต้น พวกเขาไม่ได้เริ่มจากศูนย์ และไม่ได้ทำอะไรที่ไกลจากความคุ้นเคยและเชี่ยวชาญ ว่ากันตามตรงก็แค่ เอา “จุดแข็ง” ที่มีมาขยายเป็นโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจครอบครัวก็เท่านั้น



อีกแต้มต่อสำคัญ ก็คือ ความ “ลงตัว” ของสามทายาท ที่ต่างสนใจและเชี่ยวชาญไปคนละแขนง แต่ทุกแขนงที่เชี่ยวชาญ ล้วนเติมเต็มจุดแกร่งให้องค์กรได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะ พี่ชายคนโต “ธนะรักษ์” ที่ศึกษามาทางด้านบริการธุรกิจ จากม.หอการค้าไทย มารับหน้าที่ดูแลโรงงานและการบริหารจัดการองค์กร ขณะ “คะนึงนิตย์” น้องสาวคนกลาง จบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และปริญญาโทด้านการเงินจากสหรัฐอเมริกา มาดูแลเรื่องการขายและการตลาด ส่วน “ธนะพงษ์” น้องชายคนเล็ก จบปริญญาตรี ด้านสถาปัตยกรรม จาก ม.ศิลปากร และปริญญาโทด้านกราฟิกแบรนดิ้ง ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาดูแลเรื่องแบรนด์และ แพคเก็จจิ้ง โดยเฉพาะ



เรียกว่า เหมาะเจาะ ลงตัว ตั้งแต่เริ่ม

แล้วพวกเขาทำอย่างไร ที่จะให้ธุรกิจของครอบครัวขยายตลาดได้กว้างขึ้น และเข้าถึงคนรุ่นใหม่วัยฮอร์โมนได้มากกว่าธุรกิจรุ่นเก่า

เริ่มจากตีโจทย์ที่อยู่ในมือ เมื่อคนรุ่นสองพยายามแปรรูปวัตถุดิบที่คัดสรรมา ทำเป็นอาหารทะเลแปรรูป จำพวก ปลากรอบ แล้วขายในร้านของฝากตามต่างจังหวัดมาบ้างแล้ว ของดี รสชาติอร่อย แต่ติดกับดักตรงขายได้แค่ร้านของฝาก เข้าถึงคนหมู่มาก และคนรุ่นใหม่ไม่ได้

สิ่งที่คนรุ่นสามต้องหาคำตอบ ก็คือ ทำอาหารทะเลแปรรูป ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ สะอาด มีมาตรฐาน เก็บได้นาน และกระจายอยู่ในร้านสะดวกซื้อและซุเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำให้ได้!

ที่มาของการจัดตั้ง บริษัท มารีนเนอร์ กรุ๊ป จำกัด ขึ้นในปี 2552 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท สร้างโรงงานที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากลเพื่อให้พร้อมสำหรับส่งออก มีครบทั้ง GMP, HACCP, ฮาลาล ฯลฯ พัฒนากระบวนการผลิต ให้สะอาด ทานง่าย ปลอดภัย เก็บรักษาได้นาน ควบคู่การสร้างแบรนด์ “ชาวเล” ให้แจ้งเกิด!

จากสินค้าพื้นๆ ที่คนรุ่นสองขายกันแต่ในร้านของฝาก จากการพัฒนาของคนรุ่นสาม ทำให้ปัจจุบันชาวเล มีทั้งสินค้ากลุ่มของทานเล่น อย่าง ปลาเทมปุระกรอบ กุ้งกรอบแก้ว และกลุ่มเนื้อปลาปรุงรส ที่ทานกับข้าวสวย สปาเก็ตตี้ สลัด กระทั่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

กระจายความอร่อย ได้สุขภาพดี อยู่ในหมวด “ไทยสแนค” ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โดยเริ่มวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2555 หลังใช้เวลาปรับปรุงโรงงานและผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับมาตรฐานเซเว่นฯ อยู่นานถึง 3 ปี!

ระหว่างทางของการปรับปรุง ก็ลองเอาสินค้าไปทำตลาด วางขายทั้งในตลาดนัด และย่านการค้าต่างๆ ใครจะคิดว่า จากธุรกิจเดิมของครอบครัว ที่เน้นแต่ขายส่งล็อตใหญ่ๆ มีรายได้ต่อปีหลายสิบล้านบาท แต่ธุรกิจในมือของทายาทช่วงเริ่มต้น จะขายได้แค่เดือนละหลักหมื่นบาทเท่านั้น!

“แรกๆ ก็ท้อนะ ก็ต้องผ่านความยากลำบากมาเหมือนกัน”

“ธนะรักษ์” พี่ชายคนโต บอกการต่อสู้ในยุคเริ่มต้น ที่ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ต้องใช้น้ำอดน้ำทน และพร้อมรับมือกับทุกผลที่เกิดขึ้น จนเมื่อผลิตภัณฑ์ถูกปรับปรุงให้ผ่านมาตรฐานเซเว่นฯ และเริ่มวางขาย เลยได้มั่นใจว่า พวกเขาไม่ได้มาผิดทางนัก

กับสินค้าที่ปรับปรุงใหม่ รสชาติอร่อย อยู่ในแพคเก็จจิ้งทันสมัย ที่เก็บได้ทั้งคุณภาพและรสชาติ ขายในราคาไม่สูงเกินเอื้อม (ซองละ 20 บาท) บวกกับการขยันออกงานโปรโมทสินค้า ใช้สื่อของคนรุ่นใหม่อย่าง “ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง” มาเป็นไม้เด็ดในเกมการตลาด เหล่าเหตุผลกลไกที่ทำให้ “ชาวเล” ได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยมียอดขายในเซเว่นฯ ประมาณ 70-75% ส่งออกทั้งในเอเชียและยุโรป ประมาณ 20% ที่เหลืออีก 5% เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตช่องทางอื่น มีกำลังการผลิตประมาณ 3 พันซอง ต่อวัน โดยเฉพาะช่องทางเซเว่นฯ มียอดขายอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท!

                              



หลายสำนักอาจคาดการณ์สถานการณ์ตลาดในปี 2558 แตกต่างกันไป แต่สำนักที่ชื่อ “ชาวเล” พวกเขายังเชื่อว่าธุรกิจจะเติบโตได้ดี โดยคาดว่ายอดขายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ในปีแพะ จะเติบโตได้ประมาณ 15% ผลจากแผนรบที่จะมีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เดินหน้ากิจกรรมการตลาดบนโลกโซเชียล ตลอดจนการออกงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ความอร่อยๆ แบบไทยๆ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ของทานเล่นที่เป็นประโยชน์” ให้เป็นที่โดนใจของทั้งชาวไทยและชาวโลก

ทายาทหลายคน ไม่อยากสานต่อธุรกิจครอบครัว เพราะอาจรู้สึกไม่เจ๋ง ไม่คูล ถ้าเทียบกับธุรกิจของคนอื่น แต่กับทายาท “หริรัตน์เสรี” พวกเขาย้ำว่า ธุรกิจดั้งเดิมก็ทำให้ “คูล” ขึ้นได้ ด้วยพลังไอเดียของคนรุ่นใหม่ อย่างเช่น การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย มาทำให้สินค้าเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น การปรับรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยขึ้น กระทั่งการใส่เติมความสนุกไม่จำกัดแบบคนรุ่นใหม่ ไปกับกิจกรรมต่างๆ ที่พวกเขาค้นคิด

“ผมว่า เราทำธุรกิจครอบครัวให้คูลขึ้นได้นะ อยู่ที่จะมองโพรดักส์ของเราอย่างไร ซึ่งสามารถทำในแนวทางของพวกเราได้อยู่แล้ว ก็แค่ลองทำดู และทำจนกว่าจะสำเร็จ”

“ธนะพงษ์” น้องชายคนเล็ก ที่เรียนมาทางด้านแบรนดิ้ง สะท้อนความคิด ก่อนบอกเราว่า การเชื่อมต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น อาจต้องใช้เวลา ที่จะทำให้คนรุ่นก่อนหน้าเข้าใจในสิ่งที่คนรุ่นใหม่กว่าทำ เพราะเป็นเรื่องของ "ความคิด" ที่แตกต่างกันของคนสองรุ่น หน้าที่ของพวกเขาก็แค่ ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเอง เพื่อสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นให้ได้

ขณะที่ “คะนึงนิตย์” ทายาทคนกลาง ที่เคยไปทำงานบริษัทเอกชนมาก่อนสานต่อธุรกิจครอบครัว ก็สะท้อนความคิดที่น่าสนใจว่า

“ความรู้ที่เล่าเรียนมา มาจากครอบครัวที่ส่งเราเรียน แต่ทำไมต้องเอาความรู้นั้นไปให้กับองค์กรอื่นที่ไม่ใช่ครอบครัว ทั้งที่มันสามารถนำมาพัฒนาธุรกิจของเราได้ คิดอย่างนี้ เลยตัดสินใจกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัว เพื่อทดแทนสิ่งที่เขาทำมาให้กับเราก่อนหน้านี้” คนรุ่น 3 สะท้อนความคิด

กับภารกิจสานต่อธุรกิจครอบครัว ที่ไม่ใช่แค่อยู่รอด แต่ต้องรุ่งโรจน์และเติบใหญ่ได้ในมือของทายาท


ที่มา...http://www.bangkokbiznews.com/
http://www.bangkokbiznews.com/

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Next Prev
▲Top▲