เก้าพี่น้อง ขนมไทยเงินล้าน

| วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558
ธุรกิจเล็กๆ เริ่มจากตลาดนัด อ.ต.กสู่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ สายการบินระดับชาติ และตลาดต่างประเทศ

ขนมไทยหน้าตาน่าทาน อาทิ ข้าวต้มมัด ทองหยิบ ทองหยอด ลูกชุบ ขนมจ่ามงกุฎ ฯลฯ ผ่านกระบวนการทำสุดประณีต และใส่ใจ ในระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน พร้อมเดินทางจากโรงงาน "ขนมไทยเก้าพี่น้อง" นับ 2 แสนชิ้นต่อวัน นำเสิร์ฟความอร่อยแก่ลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ


ธุรกิจเงินล้าน เต็มพร้อมด้วยเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่ แต่คงเสน่ห์ของขนมไทยไว้ได้ไม่ตกหล่น จนนำมาสู่โอกาสในธุรกิจไม่รู้จบ ที่มาของรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 10 ในมิติด้าน การมีคุณภาพสูง (Quality) การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) และสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ซึ่งจัดโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ

วันนี้เราอาจเห็นความสำเร็จ แต่ใครจะคิดว่าวันเริ่มต้น พวกเขาก็ต้องเริ่มจากศูนย์ ดิ้นรนต่อสู้ เหมือนครอบครัวคนจีน ลูกเยอะ และยากจน ทั่วๆ ไป

“จำได้ว่า เวลาเราทานข้าวกัน กับข้าวจะมีน้ำเยอะมาก ลูกๆ จะได้ทานก่อน ทานเนื้อไปหมด เหลือแต่หัวปลาก็เป็นของคุณพ่อและพี่ๆ ส่วนคุณแม่ซึ่งเป็นคนทำข้าว ท่านจะเดินไปหลังบ้าน แล้วกรอกน้ำก๊อกทาน”
ภาพฝังใจชีวิตวัยเด็ก ของ “กรกมล ลีลาธีรภัทร” ทายาทคนที่ 7 ของครอบครัว ซึ่งวันนี้ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขนมไทยเก้าพี่น้อง จำกัด
ความยากจน ทำให้เธอตระหนักถึงความลำบากของครอบครัว จึงได้เข้ามาช่วยงานตั้งแต่เด็ก ทั้งหอบหิ้วขนมไปขายที่โรงเรียน และเป็นลูกมือช่วยทำขนม นั่นเองที่ค่อยๆ ซึมซับและเรียนรู้ “เคล็ดวิชาขนมไทย” จากคุณแม่ไปโดยไม่รู้ตัว
“คุณแม่จะให้เช็ดใบตองให้สะอาด ไม่สะอาดก็จะถูกตี ข้าวเหนียวหน้าปลาก็ต้องค่อยๆ เขี่ยก้างปลาออกให้หมด ข้าวเหนียวก็ต้องเอามาล้างสารส้มจนสะอาด คุณแม่ท่านเป็นคนละเอียดมาก อันไหนทำไม่ดี เททิ้งหมด ไม่ได้ ไม่เอา ทำใหม่ ถามท่านว่า ทำไมต้องเททิ้งด้วย ขายถูกๆ ก็ได้ ท่านบอกว่า ขายถูกก็จริง แต่วันหน้าเขาจะไม่มาซื้อเราแล้วนะ จริงไหม”

ความละเอียดและใส่ใจ ในทุกขั้นตอนการทำ คือที่มาของขนมไทยที่ทั้งอร่อยและได้คุณภาพ เป็นขนมไทยๆ ที่คนทำคือ จีนแท้ แต่รสชาติก็คงความเป็นไทยไว้ได้ไม่ผิดเพี้ยน

ขนมจากครัวหลังบ้าน เริ่มเป็นที่รู้จักขึ้น เมื่อวันที่คุณพ่อผู้มีวิสัยทัศน์ตัดสินใจไปเช่าร้านที่ตลาด อ.ต.ก. ตลาดเกิดใหม่ในปี พ.ศ. 2521

กรกมล บอกเราว่า พ่อของเธอเป็นคนจีน แต่ก็เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์มาก ตั้งแต่การคิดชื่อ “แบรนด์” ในตอนเริ่มต้นที่จะเปิดร้าน ง่ายๆ คือ คิดเรื่องแบรนด์ ตั้งแต่กว่า 3 ทศวรรษที่แล้ว

“คุณพ่อบอกว่า เรามีลูก 9 คน ก็เอาชื่อ ลูกทั้ง 9 นี่แหล่ะมาตั้ง เป็นชื่อ ‘เก้าพี่น้อง’ ที่สำคัญท่านบอกว่า คนไทยเขาค้าขายจะต้องมีเครื่องรางของขลังนะ ฉะนั้นร้านเรา ตรงยี่ห้อจะต้องเป็นรูปนางกวักนะ ท่านไม่รู้หรอกว่า เขาเรียกโลโก้ แต่คนจีนเรียกยี่ห้อ ซึ่งคุณพ่อท่านคิดเรื่องนี้ตั้งแต่กว่า 30 ปีก่อน และเราก็ไม่คิดว่า แบรนด์นี้จะอยู่มาได้ถึงวันนี้”

พ่อกับแม่ มีอิทธิพลมากๆ ต่อการดำเนินธุรกิจในวันนี้ เธอบอกว่า แม่ เป็นต้นแบบของหญิงแกร่งที่ขยันและทำงานหนัก จนลูกๆ เรียกว่า “โอชิน” แม่รักและใส่ใจในการทำขนม และมีการเรียนรู้ตลอดเวลา นั่นคือที่มาของผลิตภัณฑ์ขนมที่หลากหลาย ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก และ “ฟังเสียงลูกค้า”

ขณะที่คุณพ่อ ก็เปรียบเสมือน “ขงเบ้ง” ของบ้าน มาดูกันว่า ขงเบ้งคนนี้ ทำให้เก้าพี่น้องเติบโตมาได้อย่างไรบ้าง

ตั้งแต่สอนว่า ถ้าเราทำสินค้าขาย 100 บาท แล้วได้กำไร 20 บาท กับทำสินค้าขาย 50 บาท แล้วกำไร 20 บาท ให้ทำขายแค่ 50 บาท พอ จะไปเหนื่อยทำไมในเมื่อ "ทำน้อยกว่า กำไรเท่ากัน"
“คุณพ่อ ท่านให้โจทย์ว่า ต้องขายของที่เก็บเป็นเงินก้อนได้ เพราะเราจะได้สะสมเงินเอาไว้ ซึ่งท่านไม่รู้หรอกว่า เราจะต้องเข้าไปขายที่ไหนบ้าง แต่ให้โจทย์ไว้แบบนี้”

ลูกๆ ที่รับโจทย์เลยได้มาขบคิดกันต่อ ทำอย่างไรถึงจะขายได้ปริมาณมากขึ้น และเก็บเงินเป็นก้อนได้ จนเมื่อ โรงแรมมังกรในยุคนั้น สั่งซื้อขนมไทยเก้าพี่น้องไปใช้จัดเลี้ยง ทําให้พวกเขาเริ่มเห็นช่องทางใหม่ๆ เลยขยายมาสู่การผลิตขนมไทยส่งห้องจัดเลี้ยงโรงแรมต่างๆ

และฝันก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อยังมีโอกาสในตลาดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน หรือตลาดต่างประเทศ แต่ทายาทเก้าพี่น้องบอกเราว่า ไม่ใช่แค่คิดจะทำแล้วทำได้ แต่ต้องมองถึงศักยภาพของตัวเองด้วย

“ตอนนั้นมองว่า ธุรกิจการบินมันน่าจะมีขนมไทยๆ เข้าไปอยู่ด้วย แต่สายการบินก็ต้องการเจ้าที่มีศักยภาพ ดังนั้นเราจึงหันกลับมามองตัวเองว่า เรามีศักยภาพพอหรือยัง ถ้ายังก็พัฒนาตัวเองก่อน เอาให้พร้อม ถึงค่อยกลับเข้าไปใหม่”

ที่มาของการสลัดภาพ โรงงานบ้านๆ มีคุณแม่เป็นตัวหลัก กับแรงงานไม่กี่ชีวิต มาสู่โรงงานมาตรฐาน โดยเริ่มจากจดทะเบียนเป็นบริษัทจํากัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เมื่อปี 2540 และสร้างโรงงานใหม่ระดับห้องปลอดเชื้อ แบ่งเป็นแผนกชัดเจน ได้มาตรฐานสากล และสามารถผลิตขนมได้ถึงวันละ 2 แสนชิ้น!

เมื่อพร้อมและมีศักยภาพก็ขยับขยายลูกค้าออกไป ทั้งโรงแรม สายการบิน รวมถึงออร์เดอร์จากต่างประเทศ อย่าง ส่งออกข้าวต้มมัด ถึงเดือนละ 1 แสนชิ้น ไปยังประเทศออสเตรเลีย ผลิตลูกชุบนับ 1 ล้านลูก เข้าร้านไอศกรีม สเวนเซ่นส์ ปรับร้านขนมไทยเก้าพี่น้องที่ตลาด อ.ต.ก. ไปเป็นร้านกาแฟให้ลูกค้านั่งทานในร้าน ขยายไปตลาดบองมาเช และห้างสรรพสินค้าชั้นนํา ในวันนี้

วันนี้ขนมไทยเก้าพี่น้อง อยู่ในมือทายาทเพียงสองคน คือลูกคนที่ 7 และคนที่ 9 ส่วนคนอื่นก็แยกย้ายไปมีครอบครัวกันหมดแล้ว ทว่า ความเป็นเก้าพี่น้องก็ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังชัดเจนอยู่ในธุรกิจของพวกเขา โดยเฉพาะบทเรียนและคำสอนที่ได้จากพ่อและแม่ ซึ่งลูกๆ ก็จดจำได้จนถึงทุกวันนี้

“คุณพ่อท่านสอนว่า ในชีวิตเรามีร่มชีวิตมาคนละคัน จงรักษาร่มชีวิตของเราไว้ให้ดี เพราะวันที่มีพายุ ไม่มีใครสามารถช่วยเราได้ เราก็ต้องช่วยตัวเอง และจำไว้ว่าอย่าทำให้ตัวเปียกเพราะจะไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ ไม่มีใครต้อนรับ ฉะนั้นจงเก็บร่มคันนี้ไว้ แล้วช่วยเหลือตัวเอง”

คมคิด “พึ่งพาตัวเอง” ที่ปลูกฝังผ่านคนรุ่นพ่อ คือสิ่งที่เธอยังจำได้ และหยิบยกมาแลกเปลี่ยนกับใครในหลายครั้ง

ในวันนี้เก้าพี่น้องยังมีแผนให้เติบใหญ่ เธอบอกว่า ยังอยากขยายไปในอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน กับญี่ปุ่น ที่ขนมไทยน่าจะขายดี ขณะที่ในไทยก็เชื่อว่า ตลาดขนมไทยยังโตได้อีกมาก

“อย่าไปมองว่า คู่แข่งเยอะสิ ต้องมองคุณภาพด้วย เดี๋ยวนี้คนอาจบอกว่าเดินเข้าเซเว่นฯ ก็เจอขนมไทย แต่ถามว่าทานได้กี่ครั้ง ไม่อร่อยก็ครั้งเดียว ฉะนั้น คู่แข่งเยอะก็จริง แต่คนที่รักษาความต่อเนื่องไว้ได้ รวมถึงมีสายป่านที่ดี ถึงจะอยู่ได้ เพราะขนมไทยมีต้นทุนสูง ค่าแรงแพง กำไรไปอยู่ที่ค่าแรงหมด ถ้าไม่พร้อมก็ไม่รอด”

นั่นคือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าแม้แต่ในประเทศก็ยังมีโอกาส เพราะคำว่าศักยภาพและความพร้อม ถึงอย่างนั้นธุรกิจก็ยังคงปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับระบบการทำงานที่จะใช้เครื่องจักรแทนแรงคนมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เหล่านี้เป็นต้น

ซึ่งนั่นคือความท้าทายสำคัญ ที่รออยู่ในวันหน้า

ถามถึงมุมมองในการทำธุรกิจ ทำอย่างไรจึงจะสานต่อธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จได้ คนทำจบคำถามด้วยประโยคสั้นๆ แค่ว่า

“สิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตก็คือ การเริ่มต้น ถ้าไม่เริ่มต้นทุกอย่างก็ยากหมด แต่ถ้าได้เริ่มแล้ว ทุกอย่างจะง่ายเอง”

ฉะนั้นออกจากทุกความกลัว แล้วเอาชนะกับทุกสิ่งด้วยคำว่า ...เริ่มต้น

ที่มา...http://www.bangkokbiznews.com/

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Next Prev
▲Top▲