เด่นซาลาเปา ต่อยอดใส่สีสันแฟนซี

| วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
เมื่อทายาทธุรกิจ อย่าง “ภัททิรา นามวงษา” และสามี “พุทธมนต์ ถาวร” เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวที่เปิดร้าน “เด่นซาลาเปา” ใน อ.เมือง จ.อุดรธานี มานานกว่า 20 ปี ไอเดียคนรุ่นใหม่ได้ปรับโฉม โดยผสมพืชนานาชนิดเพื่อเพิ่มสีสัน ช่วยเรียกความสนใจแถมสอดคล้องกระแสรักสุขภาพ ทว่า ไม่ละเลยที่จะรักษาสูตรความอร่อยแบบดั้งเดิมไว้ ช่วยให้ซาลาเปาเจ้านี้ไม่เพียงเด่นในจังหวัดเท่านั้น แต่ดังไกลระดับประเทศ
ภัททิรา เล่าว่า ร้านเด่นซาลาเปา ถือเป็นซาลาเปาเจ้าดังประจำจังหวัดอุดรธานี เปิดมาแล้วกว่า 20 ปี บุกเบิกโดยคุณพ่อและแม่ของเธอ (นายสะเด็นและนางกานดา นามวงษา) มีจุดเด่นที่ลูกค้าติดใจ คือ แป้งนุ่มหอม เคี้ยวแล้วไม่ติดฟันและเหงือก ซึ่งเป็นสูตรโบราณได้รับการถ่ายทอดมาจากผู้มีพระคุณท่านหนึ่ง
จนเมื่อเธอและสามี เข้ามาสานต่อกิจการ อยากพัฒนาให้ธุรกิจครบวงจร รวมถึงเห็นโอกาสจะขยายตลาดให้กว้างยิ่งขึ้น ตัดสินใจลงทุนกว่า 5-6 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตซาลาเปา และสั่งซื้อเครื่องจักร เปลี่ยนกระบวนการผลิตจากโฮมเมดมาเป็นกึ่งอุตสาหกรรม


และเพื่อให้ซาลาเปามีความแปลกใหม่ สร้างจุดเด่นให้ลูกค้าจดจำได้ดียิ่งขึ้น จึงคิดค้นสูตรนำธัญพืชนานาชนิดมาผสมในแป้งซาลาเปา เช่น อัญชัน ฟักทอง ใบเตย แก้วมังกร ข้าวโพด เผือก เป็นต้น ช่วยให้ซาลาเปามีหลากสีสันจากธรรมชาติแ และเข้ากับกระแสรักสุขภาพในปัจจุบัน เมื่อบวกกับสูตรแป้งนุ่มที่เป็นจุดเด่นเดิมอยู่แล้ว ช่วยให้ยอดขายเติบโตจากเดิมหลายเท่าตัว

ไม่เท่านั้น ยังเสริมด้วยเมนูแปลกใหม่ที่คิดขึ้นเอง เช่น ซาลาเปาสองสี หมั่นโถวโรลล์ช็อกโกแลตนมสด ฯลฯนอกจากนั้น ได้ หาความรู้จากเชฟระดับโรงแรม เพื่อเพิ่มเติมเมนูติ่มซำ รวมอีกเกือบ 20 เมนู ซึ่งทุกเมนูไม่ใส่สารกันบูดใดๆ ทั้งสิ้น และผ่านมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.)
“หลายคนมักถามว่า ซาลาเปาของเราเป็นสูตรจีน หรือฮ่องกง? ดิฉันก็จะตอบว่า มันเป็นสูตรที่เราลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง โดยนำสูตรแป้งตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่มาเป็นพื้นฐาน แล้วต่อยอดด้วยไอเดียของเราเอง เพื่อให้เป็นซาลาเปาที่แปลกใหม่ ไม่ใช่แค่แป้งลูกกลมๆ มีสีแต้มตรงกลางเท่านั้น” ทายาทธุรกิจ ระบุ
   ด้านการผลิต เมื่อนำเครื่องจักรมาช่วย นอกจากจะทำให้สามารถควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพสม่ำเสมอมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเพิ่มกำลังผลิตอีกมหาศาล จากทำด้วยมือแค่หลักพันลูกต่อวัน ปัจจุบัน ใช้พนักงานแค่ 8 คน สามารถทำได้ถึง30,000-40,000 ลูกต่อวัน

ส่วนการตลาด เดิมแค่ขายปลีกหน้าร้าน และขายส่งในพื้นที่ใกล้เคียง ได้ขยับขายส่งไปอำเภอใกล้เคียง ตามด้วยจังหวัดใกล้เคียง และค่อยๆ ขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศ รวมถึง เปิดหาผู้สนใจอยากมีอาชีพ มาร่วมทำธุรกิจขายซาลาเปา ในรูปแบบลงทุนกึ่งแฟรนไชส์ทั้งร้านรถเข็น ลงทุน 30,000 บาท แบบ Kiosk เล็ก ลงทุน 15,000 บาท และKiosk ใหญ่ 45,000 บาท ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก มีผู้สนใจเป็นตัวแทนขายแทบจะทั่วประเทศ และยังขยายไปเพื่อนบ้าน อย่างประเทศลาว มีตัวแทนรับไปขายกว่า 13 จุด
ภัททิรา อธิบายเสริมว่า ผู้สนใจมาทำธุรกิจนี้ มีเงื่อนไขว่าต้องรับวัตถุดิบซาลาเปาจากส่วนกลางเท่านั้น โดยราคาขายส่งจะถูกกว่าขายปลีก 40-50% เช่น ขายส่งลูกละ 5 บาท สามารถไปขายปลีกได้ลูกละ 10 บาท โดยต้องสั่งอย่างน้อยครั้งละ 100 ลูก
นอกจากจะขายผ่านตัวแทน ยังเปิดสาขาด้วยตัวเอง รวมกว่า 20 แห่ง ทั้งในชื่อแบรนด์ “เด่นซาลาเปา” ที่เน้นลูกค้าระดับกลาง ทำเลตามย่านชุมชน หรือตลาดนัดต่างๆ ราคาเฉลี่ยลูกละ 8-10 บาท และอีกแบรนด์ในชื่อ “Kin Pao” มุ่งลูกค้าตลาดบน เน้นทำเลในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ราคาเฉลี่ยที่ลูกละ 18 บาท โดยเป็นซาลาเปาเมนูหรูหรา เช่น ไส้เป็ดย่าง ไส้หูฉลาม เป็นต้น

แม้ที่ผ่านมา ตลาดจะเติบโตอย่างดีมาก อย่างไรก็ตาม เจ้าของธุรกิจ ยอมรับว่ายังมีปัญหาธุรกิจที่พยายามเร่งแก้ไข คือ ต้องควบคุมมาตรฐานและคุณภาพตัวแทนจำหน่ายให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากตัวแทนบางส่วนไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ ทำให้รสชาติซาลาเปาด้อยลงไป ลูกค้าซื้อไปกินแล้วไม่ประทับใจ กลายเป็นผลเสียทั้งของตัวแทนและชื่อเสียงของแบรนด์


ภัททิรา ทิ้งท้ายถึงแผนธุรกิจ จะพัฒนาด้านการขนส่ง จากปัจจุบันใช้วิธีจัดส่งทางรถทัวร์ แต่ด้วยตัวแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และระยะทางขยายไกลออกไปทุกที เตรียมจะสร้างจุดกระจายสินค้า ตามหัวเมืองใหญ่ๆ เพื่อส่งสินค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้นรวมถึง จะปรับปรุงโรงงานผลิตให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้นด้วย

โทร.042-327-942 , 08-5597-3445 หรือwww.densalapao.com

ที่มา...http://www.manager.co.th/iBizchannel/

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Next Prev
▲Top▲