เพาะเห็ดฟาง อาชีพเสริมรายได้ดี

| วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556
เงินลงทุน
ครั้งแรกประมาณ 6,000 บาท/ไร่ (เชื้อเห็ดฟาง ราคาประมาณถุงละ 15 บาท)
รายได้
ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป/ไร่
วัสดุ/อุปกรณ์
เชื้อเห็ดฟาง ฟาง อาหารเสริม แบบเพาะ ผ้าพลาสติกใส (หน้ากว้างประมาณ 1.20 เมตร
ความยาวไม่จำกัด) บัวรดน้ำ
แหล่งจำหน่ายเชื้อเห็ด
ศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก ฟาร์มเพาะเห็ดทั่วไป
วิธีดำเนินการ
1. เตรียมดิน โดยถางหญ้าออก พรวนดินปรับเป็นกองหลังเต่า ตากแดดก่อนเพาะ 2-3 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค ปรับสภาพให้เป็นกลาง รดน้ำให้ชุ่มก่อนเพาะ เพื่อให้ดินอุ้มน้ำได้ดี

2. นำฟางแช่น้ำ 1 คืน หรืออย่างน้อย 6 ชั่วโมง แช่ให้เปียกทั่ว นำอาหารเสริมประเภทย่อยง่าย เช่น ขี้ฝ้าย ไส้นุ่น ผักตบชวาสับตากแห้ง จอกแหนสับตากแห้ง ต้นกล้วยสับตากแห้งแช่น้ำเช่นเดียวกับฟาง

3. นำแบบเพาะทำด้วยไม้รูปสี่เหลี่ยมคางหมู ขนาดสูง 35-40 ซม. ฐานกว้าง 35-40 ซม. ด้านบนกว้าง 25-30 ซม. ยาว 1-1.5 เมตร วางลงบนแปลง

4. นำฟางที่สะเด็ดน้ำ ประมาณ 7-8 กก. ใส่ในแบบเพาะ กดให้แน่นหนาประมาณ 4-6 นิ้ว

5. นำอาหารเสริมประมาณ 0.5-1 กก. ที่สะเด็ดน้ำโรยในแบบเพาะรอบขอบกว้างประมาณ 2 นิ้ว หนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วจึงเอาเชื้อเห็ด 1 ถุง หนักประมาณ 3-4 ขีด แบ่งเป็น 3 ส่วน โรยส่วนที่ 1 ทับอาหารเสริมให้ทั่วรอบขอบแบบเพาะ เป็นอันเสร็จชั้นที่ 1 ทำสลับกันแบบนี้สามชั้น แล้วเอาฟางประมาณ 2-5 กก. ปิดทับชั้นที่ 3 ให้หนา 1-2 นิ้ว

6. ยกแบบเพาะออก แล้วทำการเพาะเช่นเดียวกันต่อไปเรื่อยๆ โดยเว้นระยะห่างแต่ละกองประมาณ 1 คืบ และรดน้ำให้ชุ่มทุกกอง

7. เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตได้อีก ควรพรวนดินระหว่างกองเพาะ แล้วนำเชื้อเห็ดมาคลุกกับอาหารเสริมในอัตราส่วน 1:10 หว่านบนผิวดินที่พรวน

8. เอาผ้าพลาสติกคลุมโดยใช้ 2 ผืน เกยทับกันตรงกลางกอง ให้คลุมพื้นที่ดินรอบกองเพาะออกมาประมาณ 50 ซม. เพื่อให้ดอกเห็ดเกิดบนดินได้สะดวก

9. นำฟางแห้งคลุมทับผ้าพลาสติกให้มิด เพื่อป้องกันแสงแดด ถ้าอากาศร้อนให้คลุมทับหนา อากาศหนาวคลุมบาง
การดูแลรักษา
1. ในช่วงวันที่ 1-3 เห็ดต้องการอุณหภูมิประมาณ 32-38 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ต้องระบายความร้อน โดยเปิดผ้าพลาสติกกลางกองเพาะออก 2 นิ้ว

2. ถ้ากองเพาะแห้งเกิน (ดูได้จากการดึงฟางออกจากกองเพาะ แล้วลองบิดดูจะไม่มีน้ำซึมออกมาเลย) ให้ใช้บัวรดน้ำเป็นฝอยเพียงเบาๆ ให้ชื้น ระวังอย่าให้แฉะเกินไป

3. ช่วงวันที่ 4-7 อุณหภูมิไม่ควรเกิน 32 องศาเซลเซียส ถ้าเกินต้องเปิดผ้าพลาสติกตรงกลางกองเพาะออก 3 นิ้ว ประมาณวันที่ 7 จะเริ่มมีตุ่มดอกเห็ดสีขาวเล็กๆ ช่วงนี้ต้องอย่ารดน้ำโดนเห็ด เพราะดอกเห็ดจะฝ่อและเน่าเสียหาย ให้รดน้ำที่ดินรอบกองเพาะ

4. ในช่วงวันที่ 7-12 เป็นระยะการเจริญของดอกเห็ด ต้องการอากาศมากขึ้นให้เปิดผ้าพลาสติกตรงกลางกองเพาะออก 5-6 นิ้ว อุณหภูมิที่เหมาะสม 28-32 องศาเซลเซียส รักษาสภาพนี้ไว้จนดอกเห็ดโตเต็มวัย คือก่อนที่จะบานจึงเก็บได้
การเก็บดอกเห็ด
เก็บโดยใช้มือจับทั้งกอเบาๆ หมุนซ้าย-ขวาเล็กน้อย แล้วค่อยๆ ดึงขึ้น พยายามอย่าให้เส้นใยกระทบกระเทือน ผลผลิตที่ได้ประมาณ 1-2 กก. ต่อ 1 กองเพาะ ดอกเห็ดที่ขึ้นเป็นกอ มีทั้งดอกเล็กและดอกใหญ่ ถ้ามีดอกเล็กมากกว่า ควรรอเก็บรุ่นที่ 2 ซึ่งห่างจากรุ่นแรกประมาณ 2-3 วัน
ตลาด/แหล่งจำหน่าย
ตลาดสด ขายส่งให้พ่อค้าแม่ค้า ซุปเปอร์มาเก็ต โรงงานแช่แข็ง โรงงานบรรจุกระป๋อง

สถานที่ให้คำปรึกษา
1.กองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร โทร.561-4878

2.สำนักงานเกษตรจังหวัด, อำเภอ
สถานที่ฝึกอบรม
1.สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร.942-8200-45 ต่อ 1336-1339

2.ศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก โทร.441-0369

ข้อแนะนำ
1.การเลือกเชื้อเห็ดที่ดี ควรเลือกที่มีเส้นใยเต็มถุง มีสีขาวนวล ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อรา และมีกลิ่นหอมของเห็ดฟาง

2.พื้นที่เพาะเห็ด ต้องเป็นบริเวณที่ไม่มียาฆ่าแมลง น้ำไม่ท่วมขัง มีการระบายน้ำได้ดี และสภาพดินต้องไม่เค็ม เพราะความเค็มของดินจะทำให้เส้นใยเห็ด ไม่รวมตัวกันเป็นดอกเห็ด

3.วัสดุที่ใช้เพาะ อาจใช้วัสดุอื่นแทนฟาง ซึ่งแล้วแต่จะหาได้ในท้องถิ่น เช่น ตอซัง เปลือกถั่วเขียว ขี้เลื่อย ทะลายปาล์ม เป็นต้น

4.เศษวัสดุที่เหลือจากการเพาะเห็ดฟาง สามารถนำมาเป็นปุ๋ยหมักใช้กับพืชอื่นๆ หรือขายเป็นรายได้เสริม
ที่มา

ส่งเสริมการมีงานทำ , กอง กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม,"เพาะเห็ดฟาง," 150 อาชีพเส้นทางประกอบอาชีพอิสระ กรุงเทพฯ , 2544 ,หน้า 249-250.
คำไข  เคล็ดลับ-วิธีการ / การดำเนินธุรกิจ / เพาะเห็ดฟาง


ที่มา...http://www.ismed.or.th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Next Prev
▲Top▲