10 กฎหมาย ที่ต้องรู้ ในการทำ e-Commerce

| วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
1.กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544
กฎหมายฉบับนี้ สาระสำคัญจะรับรองสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เหมือนกับการทำหลักฐานเป็นกระดาษหรือหนังสือรับรองการส่งและรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง ใช้เป็นพยานหลักฐาน

2.กฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
ระบุการกระทำผ่านหรือโดยอาศัยคอมพิวเตอร์ในการกระทำความผิด ซึ่งมีวัตถุประสงค์มุ่งต่อระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลของคอมพิวเตอร์ หรือบุคคล เพื่อให้เกิดความเสียหาย

3.กฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545
กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าทางออนไลน์ที่เข้าข่ายการ “ตลาดแบบตรง” ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก่อนทำการค้า

4.กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
“การโฆษณา” จะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ไม่ว่าข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ จัดหา หรือใช้สินค้าหรือบริการ

5.กฎหมายทะเบียนพาณิชย์
กระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจการซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์ การให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web Hosting) และการบริการเป็นตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) ต้องจดทะเบียนพาณิชย์

6.กฎหมายลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
กำหนดสิทธิ์ประโยชน์ให้แก่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และป้องกันถูกผู้อื่นละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งขาย เสนอขาย เผยแพร่ แจกจ่าย แสวงหากำไร อันสร้างความเสียหายให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์

7.กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542
ดูแลราคาสินค้าต่างๆ ให้อยู่ในระดับราคาเหมาะสม เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ไม่มีการฮั้วราคา รายใหญ่รังแกรายเล็ก และกำหนดราคาตามอำเภอใจ

8.กฎหมายจดแจ้งการพิมพ์
ตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 กำหนดให้ผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ต้องจดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งหมายรวมถึง ผู้ประกอบธุรกิจหนังสือออนไลน์ หรือ e-book ด้วย แต่ไม่รวมถึงผู้ขายหรือร้านขายหนังสือออนไลน์ที่ไม่ใช่ผู้ผลิตเอง

9.กฎหมายผลิตภัณฑ์ อาหารและยา
การขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารและยา ทั้งผลิตเอง หรือนำเข้า ต้องเป็นผลิตภัณฑ์อยู่ภายใต้การดูแลลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

10.กฎหมายธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551
ธุรกิจออนไลน์ที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ จะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ต่อกรมการท่องเที่ยวเสียก่อน

Note: นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการแต่ละประเภท ซึ่งผู้ประกอบการต้องศึกษาอย่างละเอียดเพื่อปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาในการประกอบธุรกิจของตน

ข้อมูลโดย : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Next Prev
▲Top▲