"ชาบูกู" รสไทย สไตล์ญี่ปุ่น ต้องลอง

| วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558




"ลูกค้ามีจองเข้ามาทุกวัน เต็มทุกวัน และในขณะเดียวกัน ก็มีผู้สนใจติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งกับระยะเวลา 1 ปีที่เราสร้างแบรนด์มา ก็น่าจะถึงเวลาไปได้ จึงเริ่มศึกษาระบบแฟรนไชส์ เรียกว่าทำการบ้านครั้งใหญ่"



"ลูก" คือความหวังของพ่อแม่ และกับการได้เดินตามรอยอาชีพเดียวกัน ก็ถือเป็นความหวังอีกประการหนึ่งของผู้เป็นพ่อ-แม่


เช่นเดียวกับครอบครัว "อำภา" ที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่มีอาชีพรับราชการ จึงหวังว่า เส้นทางสายนี้ลูกๆ ทั้งสองจะเดินตาม

ในฐานะลูก ก็หวังสร้างความสบายใจให้กับพ่อ-แม่ แต่ทว่ากับอาชีพรับราชการนั้น ไม่ใช่เส้นทางความฝัน

การแสดงให้พ่อ-แม่เห็น คือการลงมือทำในสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ โดยมีความตั้งใจเป็นพื้นฐาน และมีปลายทางแห่งความสำเร็จเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถ



พิสูจน์เส้นทางธุรกิจ
เปิดร้านตั้งแต่วัยเรียน

เส้นทางสายธุรกิจ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ครั้ง คุณเนติพัฒน์ อำภา และน้องชาย คุณมนพัฒน์ อำภา ยังอยู่ในวัยเรียน "ผมว่าพ่อแม่ก็คงหวังให้ลูกๆ รับราชการ ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกว่าจะไม่เป็น เพียงแต่ผมรู้ว่าอยากทำธุรกิจ อยากมีกิจการเป็นของตนเอง จึงช่วงชิงเวลาระหว่างเรียน พิสูจน์ให้พ่อกับแม่เห็นว่าเราเดินมาถูกทาง ซึ่งก็โชคดีตรงที่ว่าเวลาทำอะไรท่านทั้งสองเปิดโอกาสเสมอ

ตอนนั้นจำได้ว่าแม่ให้เงินผมกับน้อง 5,000 บาท เป็นของขวัญเนื่องในโอกาสอะไรสักอย่าง เพราะเรา 2 คนไม่ค่อยรบกวนท่าน เรานำเงินนั้นมาซื้อถ้วยชาม แล้วไปเช่าพื้นที่ในตลาดนัด กางเต็นท์ขายอาหาร"

จากเต็นท์ ต่อมาได้เปิดร้านอาหารญี่ปุ่น โดยมีเมนูเสิร์ฟง่าย อย่าง ดงบูริ อาหารจานเดียวของญี่ปุ่น ไว้บริการลูกค้า "เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมกับน้องชายเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นขายเมนูทำง่าย ซึ่งตอนนั้นน้องเรียนด้านเชฟอยู่ปี 1 แต่พอเปิดได้ 1 ปี น้ำท่วม เลยย้ายมาเปิดแถวมหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีเพื่อนๆ เข้ามาร่วมหุ้นด้วย แต่ต่อมาเมื่อน้องชาย ซึ่งเขาเป็นหัวเรือใหญ่ในด้านการคิดสูตรและปรุงอาหาร ขึ้นปี 3 เรียนหนักและต้องฝึกงานด้วย ทำให้ไม่มีเวลา จึงตัดสินใจปิดร้านไปก่อน"

หยุดการทำธุรกิจร้านอาหารไปราว 1 ปี จนกระทั่งทุกอย่างกลับมาลงตัว น้องชายศึกษาจบ เช่นเดียวกับคุณเนติพัฒน์ จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงตัดสินใจก้าวสู่ธุรกิจร้านชาบูอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้เพื่อนผู้สนใจร่วมลงทุนรวม 6 หุ้น

ร้าน "ชาบูกู" คือชื่อที่ทุกคนเห็นพ้องและจัดตั้งขึ้น โดยปัจจุบัน ร้านตั้งอยู่ในหมู่บ้านเมืองเอก ซึ่งถือเป็นทำเลเหมาะ เพราะใกล้สถานศึกษา และอยู่ในชุมชนใหญ่ จึงทำให้ได้ลูกค้าหลากหลายกลุ่ม ทั้งวัยรุ่น วัยเรียน และกลุ่มครอบครัว

"หุ้นส่วนของร้านชาบูกู อายุตั้งแต่ 19-27 ปี เท่านั้นเอง แต่ว่าแต่ละคนจะมีความถนัดคนละด้าน อย่างผมก็ดูแลด้านบริหาร น้องดูแลเมนูอาหาร การตกแต่งออกแบบร้านก็จะได้น้องอีกคนมาดูแล ใครถนัดอะไรก็มาช่วยกัน ฉะนั้น การสร้างร้านนี้จึงแทบไม่ต้องจ้าง"



ชาบู ของคนไทย

เปิดขยายแฟรนไชส์


สำหรับเมนูอาหารจัดไว้บริการ จะมี 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ ชาบู รูปแบบบุฟเฟ่ต์ ที่กำหนดราคาไว้ 279 บาท/หัว และ 379 บาท/หัว โดยความโดดเด่นอยู่ที่น้ำจิ้มสูตรถูกลิ้นคนไทย และน้ำซุปที่มีไว้บริการ 5 รสชาติ ได้แก่ ชาบูกู, ต้มยำ, น้ำใส, มิโสะ, น้ำข้น

"กลุ่มผู้บริโภคของชาบูกู หลักๆ คือคนไทย ฉะนั้น รสชาติต้องถูกใจเขา น้ำจิ้ม และน้ำซุป จึงผสมผสานระหว่างความเป็นญี่ปุ่นและไทย ที่เน้นให้ออกรสเข้มข้น ส่วนวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผัก ก็จะต้องคัดสรรคุณภาพ เลือกซื้อจากร้านที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ"

จำนวนที่นั่งจัดไว้รองรับลูกค้าประมาณ 8 โต๊ะ จนถึงวันนี้ถือว่าคับแคบเกินไป คุณเนติพัฒน์จึงคิดปรับขยายพื้นที่ตั้งโต๊ะเพิ่ม "ทุกวันนี้ลูกค้ามาแล้วไม่ได้ทาน ถือว่าเยอะมาก คนที่จะมาต้องโทรจองล่วงหน้า จึงคิดขยาย แต่ก็คงทำไม่ได้มากนัก เพราะพื้นที่จำกัด"

ด้วยจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น กอปรกับมีผู้สนใจกลุ่มหนึ่งต้องการสร้างธุรกิจเช่นนี้บ้าง จึงติดต่อขอซื้อสิทธิ์ ถึงคราวนี้คุณเนติพัฒน์และผู้ถือหุ้น จึงเห็นพ้องต้องกันกับการศึกษาระบบแฟรนไชส์ให้ถี่ถ้วน เพื่อสร้างความเข้าใจและดำเนินธุรกิจได้ราบรื่น

"ลูกค้ามีจองเข้ามาทุกวัน เต็มทุกวัน ลูกค้าเคยมากสุดวันหนึ่ง 90 คน แต่เฉลี่ยก็ราว 50 คน และในขณะเดียวกัน ก็มีผู้สนใจติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ กับระยะเวลา 1 ปีที่เราสร้างแบรนด์มา ก็น่าจะถึงเวลาไปได้ จึงเริ่มศึกษาระบบแฟรนไชส์ เรียกว่าทำการบ้านครั้งใหญ่ วางระบบเพื่อให้ทุกสาขาเกิดมาตรฐาน ทั้งด้านบริการ รสชาติ ความสะอาด การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ วางแผนการดำเนินงานให้รอบคอบ ระบบการทำบัญชี ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ถือว่ามีความพร้อมแล้ว และมีสาขาแฟรนไชซีเกิดขึ้นแล้ว 1 แห่ง ตั้งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล นอกจากนั้นยังมีสาขาที่พร้อมจะเปิดอีก 2 แห่ง คือที่จังหวัดระยอง และเชียงใหม่"



ตั้งเป้า 4 สาขา

โปรฯ ค่าแฟรนไชส์


กับค่าแฟรนไชส์กำหนดไว้ 250,000 บาท สัญญา 5 ปี บวกป้ายอุปกรณ์ตกแต่งร้าน สื่อประชาสัมพันธ์ พร้อมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการร้าน โดยจะฝึกอบรมทั้งในส่วนของพนักงานแผนกครัวและฝ่ายต้อนรับ ซึ่งจะให้ดีผู้ประกอบการควรลงทุนเวลาไปรับความรู้ด้วยตัวเอง

"สำหรับระบบนำมาใช้ เป็นระบบ POS (Point Of Sales) เพื่อให้การทำงาน การขาย ง่ายขึ้น ตรวจสอบง่ายขึ้น และทำให้รู้ความเคลื่อนไหว ซึ่งจะส่งผลในการแก้ไขปัญหารวดเร็ว นอกจากนั้น บริษัทแม่และแฟรนไชซีจะมีการวางแผนด้านการตลาดร่วมกัน จัดโปรโมชั่นร่วมกัน"

สิ่งสำคัญที่แฟรนไชซีต้องรับจากบริษัทแม่ คือ น้ำจิ้ม และน้ำซุป ที่ปรุงสูตรเข้มข้น ให้แฟรนไชซีนำไปผสมกับน้ำสต๊อกที่บริษัทแม่จะเป็นผู้ถ่ายทอดสูตรให้

สำหรับทำเลตั้งร้าน คุณเนติพัฒน์ แนะนำว่า ควรอยู่ในพื้นที่ชุมชนใหญ่ ใกล้สถานศึกษา หรือย่านสำนักงาน ซึ่งก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัทแม่จะร่วมวิเคราะห์ทำเลให้ นอกจากนั้น ยังสำรวจตลาด เพื่อค้นหาวัตถุดิบที่ใช่และร้านที่เหมาะสมจะนำวัตถุดิบมาใช้ในร้าน แต่ทั้งนี้ในส่วนของวัตถุดิบหลักๆ อย่างเนื้อสัตว์ หรือเครื่องปรุงรสบางรายการ แนะนำให้ซื้อผ่านซัพพลายเออร์เดียวกัน เพื่อจะได้สินค้าที่เป็นมาตรฐานและยังเกิดผลดีในด้านต้นทุนที่ถูกลง

สำหรับขนาดพื้นที่ตั้งร้าน ผู้ประกอบการคนขยันว่า ควรมีพื้นที่ตั้งโต๊ะประมาณ 5-8 โต๊ะขึ้นไป ซึ่งถ้าเป็นกิจการเล็กๆ เพียงคนในครอบครัวก็สามารถลงมือได้เอง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงเพิ่ม ส่วนการลงทุนในส่วนอื่น หรือบางที่ต้องสร้างร้านเอง อย่างที่ร้านแห่งนี้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 400,000 บาท ค่าเช่าเดือนละ 30,000 บาท โดยสิ่งที่สำคัญคือระบบไฟ เครื่องปรับอากาศต้องได้อุณหภูมิที่เหมาะสม เพราะไม่เพียงแต่ขนาดของห้อง ลูกค้าและพนักงาน ที่เป็นตัวกำหนดค่าบีทียู แต่ว่าความร้อนจากการใช้เตาคือปัจจัยหลักที่มองข้ามไม่ได้

"ปีนี้ตั้งเป้าขยายสาขา 4 แห่ง และบริษัทแม่ได้กำหนดโปรโมชั่นลดราคา สำหรับผู้สนใจติดต่อมาใน 4 สาขานี้ จะคิดค่าแฟรนไชส์ 150,000 บาท"

แม้จะมอบสูตรการทำงานให้กับแฟรนไชซี แต่กระนั้น คุณเนติพัฒน์ ว่า การบริหารจัดการร้านให้อยู่ตลอดรอดฝั่ง และมีทิศทางเติบโตดี ความสำคัญอยู่ที่ 3 หัวใจหลัก ได้แก่ รสชาติ บริการ ความสะอาด

"ผมว่า 3 ข้อนี้คือกฎเหล็ก เป็นสิ่งที่ต้องควบคุมให้อยู่ในมาตรฐานให้ได้ และต้องไม่ขาดแม้ข้อใดข้อหนึ่ง"

สำหรับผู้สนใจสร้างธุรกิจ เชื่อว่าหนุ่มอายุน้อยวัยเพียง 25 ปี นามเนติพัฒน์ น่าจะเป็นแบบอย่างของคนกล้าที่จะก้าว ซึ่งถ้ามีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นต้นทางแล้ว ปลายทางแห่งความสำเร็จ ก็น่าจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

สนใจติดต่อที่ บริษัท แฟรนไชส์ ชาบูกู เลขที่ 25/4 ซอยรัชดาภิเษก 36 แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ (02) 997-7001, (085) 553-9888





ข้อมูลจำเพาะ

กิจการ ร้านอาหาร

ลักษณะกิจการ หุ้นส่วน (SMEs)

ชื่อกิจการ ชาบูกู

เจ้าของกิจการ คุณเนติพัฒน์ อำภา, คุณมนพัฒน์ อำภา และหุ้นส่วน

เงินลงทุน ประมาณ 400,000 บาทขึ้นไป

สินค้า/บริการ ชาบู, ดงบูริ

วัตถุดิบ เนื้อสัตว์ ผัก เป็นต้น

แหล่งซื้อ ผ่านซัพพลายเออร์, ตลาด, ห้างสรรพสินค้า

ราคาขายสินค้า ชาบู 279 บาท และ 379 บาท ต่อหัว

ยอดขาย เดือนละประมาณ 500,000 บาท

กำไร 30 เปอร์เซ็นต์

ลักษณะการขาย ขายปลีกผ่านหน้าร้าน

กลุ่มลูกค้า นักศึกษา วัยทำงาน กลุ่มครอบครัว

แรงงาน 8 คน (ในครัว 4 คน พนักงานต้อนรับ 4 คน)

จุดเด่น อาหารญี่ปุ่นรสไทย

การขยายธุรกิจ รูปแบบแฟรนไชส์

การวางแผนในอนาคต เปิดรูปแบบดีลิเวอรี่

สถานที่ตั้งร้าน สาขาเมืองเอก เลขที่ 8/1-3 ถนนเอกเจริญ หมู่ 7 ตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โทรศัพท์ (02) 997-7001

สาขาศาลายา โทรศัพท์ (080) 959-9962

สถานที่ติดต่อ บริษัท แฟรนไชส์ ชาบูกู เลขที่ 25/4 ซอยรัชดาภิเษก 36 แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10210

โทรศัพท์ (02) 997-7001, (085) 553-9888

ที่มา..http://info.matichon.co.th/

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Next Prev
▲Top▲