การนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นสินค้ากลุ่มงานแฮนด์เมดยังคงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เป็นการสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ ที่สำคัญสามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของไอเดียได้ดีอีกด้วย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือ และความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการของแต่ละคน ว่าจะเสกสรรปั้นแต่งชิ้นงานของตนอย่างไรให้โดนใจลูกค้า ซึ่งวันนี้ทีม ’ช่องทางทำกิน“ ก็มีอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างมาให้ลองพิจารณา กับงาน ’รองเท้าจากกางเกงยีนเก่า“ อีกหนึ่งไอเดียโดน ๆ...
******
“จตุรงค์ เงินอร่าม” นำเอา “กางเกงยีนเก่า” มือ 2 มาสร้างสรรค์เป็น “รองเท้า” ที่ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Kai-Chon Original (ไก่ชน ออริจินัล)” ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า “ผมไม่ใช่ช่างทำรองเท้า แต่เป็นแค่คนทำรองเท้า” โดยจริง ๆ แล้วก่อนที่จะมาเริ่มทำรองเท้าขายนั้น ทำธุรกิจส่วนตัวอย่างอื่น ส่วนธุรกิจการขายรองเท้ามาทำหลังจากยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ต้องหยุดการทำธุรกิจส่วนตัว แต่ก็ไม่ได้ยอมแพ้ และได้เริ่มไปรับรองเท้ามาขาย หลังจากที่รับรองเท้ามาขายอยู่สักระยะก็คิดว่า น่าจะทำเองได้ จึงอาศัยไปศึกษาดูเขาทำ ใช้วิธีครูพักลักจำการทำรองเท้ามา แล้วก็มาลองทำ จนสามารถทำรองเท้าได้ หลังจากที่หัดทำรองเท้าเองได้ ฝึกฝนจนทำได้ชำนาญ ก็เริ่มผลิตรองเท้าหนังออกมาจำหน่ายเป็นของตัวเอง
“ตลาดรองเท้านั้นเป็นตลาดที่แข่งขันกันสูง เป็นตลาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงาน เป็นอุตสาหกรรม แต่ของเรานั้นเป็นแค่อุตสาหกรรมครัวเรือน และเพื่อที่จะสู้กับคู่แข่งได้ เราจำเป็นจะต้องพัฒนาสินค้าของเราให้มีจุดเด่น มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร จึงพยายามหาวัตถุดิบหลายอย่างมาทำรองเท้า เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสินค้าของเรา”
จตุรงค์กล่าวต่อไปว่า พยายามศึกษาหาวัตถุดิบมาเรื่อย จนมาลงตัวที่ “กางเกงยีน” เริ่มจากการที่เห็นว่ามีหลายคนนำกางเกงยีนมาทำเป็นสินค้าหลากหลาย จึงคิดว่าน่าจะนำมาทำเป็นรองเท้าได้ จึงทดลองทำ ซึ่งก็ลองผิดลองถูกอยู่นานประมาณ 5-6 เดือน กว่าที่จะได้แบบที่ลงตัวออกมาสู่ตลาด
“รองเท้าที่ทำจากกางเกงยีน เราจะใช้กางเกงยีนเก่ามือสอง เป็นการประยุกต์ทำให้เกิดมูลค่า ซึ่งรองเท้า 1 คู่ จะใช้กางเกงยีน 1 ตัวในการทำ เพราะฉะนั้นรองเท้าแต่ละคู่จึงไม่เหมือนกัน ที่สำคัญการทำรองเท้าจากกางเกงยีนต้องทำให้ลูกค้ารู้ว่าเป็นรองเท้าที่ทำมาจากกางเกงยีนจริง ๆ ไม่ใช่แค่รองเท้าที่ใช้ผ้ายีนทำ จึงจะประสบความสำเร็จ”
การนำกางเกงยีนมาทำเป็นรองเท้านั้น จตุรงค์บอกว่า อาจจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากสักหน่อย เพราะเวลาเก็บรายละเอียดการทำแบบแพทเทิร์น ทำรองเท้า ทำออกมาแล้วต้องมองแล้วรู้เลยว่าทำมาจากกางเกงยีน ซึ่งนี่คือเสน่ห์ของรองเท้าที่ทำจากกางเกงยีน ที่ลูกค้าให้การตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งลูกค้าชาวต่างชาติและคนไทย โดยรองเท้าที่ทำทุกคู่เป็นงานแฮนด์เมดทำมือทุกขั้นตอน เพราะฉะนั้นจึงสามารถผลิตรองเท้าออกมาได้แค่ประมาณ 300-400 คู่ ต่อ 1 เดือน
“กางเกงยีนมือ 2” วัสดุหลักในการทำนั้น จตุรงค์บอกว่า จะใช้วิธีไปรับซื้อเหมาตามตลาด เป็นกางเกงยีนที่โละจากร้านขายกางเกงยีน ส่วนวัสดุอื่น ๆ ที่ต้องใช้ หลัก ๆ ก็มี...หนังกลับ, พื้นรองเท้า, พื้นรองตัวรองเท้า, เชือกรองเท้า กรณีทำเป็นแบบมีเชือก กระดาษเคมีวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกระดาษที่ทำให้หัวรองเท้าและส้นรองเท้าเป็นทรง ไม่ยุบตัว
สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ทำ หลัก ๆ ก็มี...จักรเย็บผ้า, หุ่นรองเท้า, คีม, ค้อน, ตะปู, กรรไกร, กาวยาง เป็นต้น
ขั้นตอนการทำ เป็นงานแฮนด์เมดทุกขั้นตอน โดยเริ่มจากการทำแพทเทิร์นรองเท้าเป็นอันดับแรก โดยแพทเทิร์นนั้นจะมีอยู่ 3 ส่วนคือ ส่วนหัวรองเท้า, ส่วนลิ้นรองเท้า และส่วนตัวรองเท้า เมื่อมีแพทเทิร์นแล้ว จากนั้นก็เป็นการคัดเลือกกางเกงยีนที่จะใช้ทำ เลือกได้แล้วก็ใช้แพทเทิร์นวางทาบบนกางเกงยีน ตัดตามแบบแพทเทิร์น แต่แพทเทิร์นที่เป็นส่วนตัวรองเท้านั้น จะต้องวางในส่วนที่พอตัดออกมาแล้วจะต้องดูรู้ว่าเป็นกางเกงยีน ต้องมีรายละเอียดของกางเกงยีนอยู่ด้วย เช่นอาจจะเป็นส่วนที่มีกระเป๋ากางเกง หรืออาจจะมีป้ายยี่ห้อกางเกงติดอยู่ เป็นต้น
จากนั้นก็ตัดตามแบบแพทเทิร์น ก็จะได้ 3 ชิ้น ส่วนที่เป็นตัวรองเท้าและส่วนลิ้นรองเท้าก็ใช้หนังกลับติดรองด้านในอีกชั้น เพื่อความสวยงามดูมีคุณค่าและทำให้รองเท้าหนาขึ้น ส่วนที่เป็นตัวรองเท้านั้นถ้าทำแบบมีเชือกรองเท้าด้วยก็ต้องทำการเจาะรูสำหรับร้อยเชือกตามแบบ ส่วนที่เป็นหัวรองเท้าใช้เป็นผ้าสองชิ้นประกบกัน เป็นการเพิ่มความหนา นำส่วนประกอบ 3 ส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน ยึดด้วยกาว แล้วเย็บอีกครั้งเพื่อความแข็งแรงแน่นหนา
หลังจากเย็บ 3 ส่วนติดกันแล้วก็นำมาขึ้นหุ่น นำกระดาษเคมีวิทยาศาสตร์ชุบนํ้ามันเบนซินให้ชุ่มวางใส่ตรงหัวรองเท้าและส้นรองเท้า (พอกระดาษเคมีแห้งสนิทแล้วจะแข็งตัว ทำให้ส่วนหัวรองเท้าและส้นรองเท้าแข็งเป็นทรงไม่ยุบตัว) จากนั้นก็ขึงรองเท้าให้เข้ารูปกับหุ่นเท้า ใช้ตะปูตอกยึดให้แน่น ขึงยึดรองเท้าเข้ารูปตามหุ่นรองเท้าแล้วก็นำพื้นรองเท้าที่เป็นยางมาประกอบโดยใช้กาวยางยึดให้แน่น รอจนกระดาษเคมีวิทยาศาสตร์และกาวแห้งสนิทประมาณ 4-5 ชั่วโมง ก็จึงนำรองเท้าออกจากหุ่นเท้า นำรองเท้านั้นไปเย็บพื้นรองเท้าอีกส่วน เพื่อให้พื้นแข็งแรงมากขึ้น ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ
รองเท้าจากกางเกงยีนเก่าของจตุรงค์ มีตั้งแต่ไซซ์ 35-44 ราคาขายอยู่ที่คู่ละประมาณ 600-700 บาท
******
สนใจ ’รองเท้าจากกางเกงยีนเก่า“ ของจตุรงค์ ไปดูกันได้ที่ตลาดกรมชลประทาน (ปากเกร็ด) ทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่ ตี 5-10 โมงเช้า และดูสินค้าตัวอย่างของกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ได้ทาง www.facebook.com/รองเท้าทำจากกางเกงยีนส์-Kai-chon-Original หรือต้องการสั่งออร์เดอร์ก็โทรศัพท์ไปสอบถามพูดคุยได้ที่ โทร. 08-7529-2802.
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน / สุนิสา ธนพันธสกุล : ภาพ
ที่มา...http://www.dailynews.co.th/
ธุรกิจแฟชั่น
รองเท้า
handmade
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น