น้ำสมุนไพร พาสเจอไรซ์ อร่อย ดีต่อสุขภาพ

| วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

"อาชีพ" เมื่อลองปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับชีวิตและวิถีที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันแล้ว การใช้ชีวิตย่อมดำเนินไปด้วยความปกติสุข และยิ่งทวีความสุขเพิ่มมากขึ้น
เมื่ออาชีพที่ประกอบอยู่เป็นอาชีพที่รัก สร้างรายได้
ให้กับครอบครัวพอเลี้ยงตัวได้อย่างสบายในสังคมปัจจุบัน เพราะอย่างน้อยก็ไม่สร้างภาระให้กับคนรอบข้างและสังคม ดังเช่นนักบัญชีนางหนึ่งที่มีความถนัดในการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า ถึงขั้นเปิดร้านเป็นทางการมานานหลายปี พลิกผันตัวเองไปสู่พนักงานบริษัทที่ยังคงข้องเกี่ยวกับการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า ก่อนนั่งทำงานในตำแหน่งเลขานุการ แต่ท้ายที่สุด ยึดอาชีพ "แม่ค้า" ผลิตน้ำสมุนไพรขายส่งให้กับร้านอาหารต่างๆ จนมั่นใจว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ยึดเป็นอาชีพหลัก เลี้ยงตัวและครอบครัวได้แน่นอน แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์อาชีพที่ผ่านมาแม้แต่น้อย

ในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน ความกระหายน้ำมีมากขึ้นถึงขีดสุด ทันทีที่ได้จิบน้ำกระเจี๊ยบ ซึ่งจัดว่าเป็นน้ำสมุนไพรชนิดหนึ่ง ช่วยคลายร้อนและแก้กระหายได้อย่างดี คุณสมบัติคลายร้อนและแก้กระหายมีอยู่ในน้ำกระเจี๊ยบทุกแก้วอยู่แล้ว แต่รสชาติต่างหากที่จะบอกถึงฝีมือของเจ้าของ ซึ่งเจ้าของน้ำกระเจี๊ยบแก้วนี้ เป็นฝีมือของ คุณภชสร เชียงการ ผู้ผลิตน้ำสมุนไพรจำหน่ายส่งรายใหม่ของตลาด เกือบ 2 เดือนก่อนหน้า คุณภชสรเข้ารับการอบรมการทำน้ำผลไม้และสมุนไพรบรรจุขวด 15 รายการ กับศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน และกลับมาเริ่มต้นจับธุรกิจผลิตน้ำผลไม้และสมุนไพรอย่างจริงจัง โดยมุ่งมั่นยึดเป็นอาชีพหลัก นับตั้งแต่เธอตัดสินใจเข้าอบรบกับศูนย์อาชีพฯ มติชน ซึ่งถึงตอนนี้คุณภชสร บอกว่า เธอเลือกไม่ผิด ย้อนหลังไปหลายปี คุณภชสรเป็นถึงเจ้าของร้านออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า มีลูกค้าประจำ ลูกน้องช่วยงาน ธุรกิจราบรื่นเป็นไปด้วยดีไม่มีขาดตกบกพร่อง ซึ่งระหว่างนั้นเธอหาความรู้เสริมด้วยการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านการบัญชี หวังนำมาใช้ช่วยในธุรกิจที่จับต้องอยู่ แม้จะยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวมานานกว่า 10 ปี แต่ท้ายที่สุดคุณภชสรกลับขายกิจการทิ้ง เนื่องจากเรียบจบวิชาการบัญชี และถูกชักชวนจากน้องสาวที่เพิ่งแต่งงานให้ย้ายไปอยู่ด้วยกันที่ต่างจังหวัด จึงตัดสินใจไปหาอาชีพใหม่ที่นั่น เพียง 5 เดือน คุณภชสรก็อดรนทนกับความกระตือรือร้นของตนเองไม่ไหว จึงตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง และสมัครงานโดยใช้ปริญญาด้านการบัญชีเป็นใบเบิกทาง และได้งานในบริษัทตัดเย็บเสื้อผ้ารายใหญ่ ซึ่งรับงานประเภทตัดเย็บยูนิฟอร์มบริษัทจำนวนมาก คุณภชสรโลดแล่นอยู่ในสายงานใกล้เคียงกับอาชีพเดิมอีกครั้งได้ไม่นานนัก เธอตัดสินใจถีบตัวเองขึ้นเป็นเลขานุการกรรมการผู้จัดการบริษัทแห่งหนึ่ง เพราะหวังจะนำความคล่องตัวด้านต่างๆ ของเธอมาใช้ แต่ในที่สุดอาชีพที่เกิดขึ้นกับเธอเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เธอมีความสุขกับมัน เธอจึงตัดสินใจลาออกอีกครั้ง และคิดเริ่มต้นใหม่ "น้ำสมุนไพร" เป็นแว่บแรกที่คุณภชสรนึกถึง เมื่อมองหาอาชีพอิสระของตนเอง

คุณภชสร เล่าว่า การผลิตน้ำสมุนไพรบรรจุขวดส่งขายตามร้านค้าหรือร้านอาหารต่างๆ เป็นแนวคิดที่เธอมีมาตั้งแต่ยังเป็นพนักงานบริษัท เพราะระหว่างรับประทานอาหารกลางวันพร้อมเพื่อนร่วมงาน เธอรู้สึกว่า อากาศร้อนอบอ้าว หากมีน้ำสมุนไพรเสิร์ฟคงดีไม่น้อย แต่ละแวกบริษัทที่เธอทำงานอยู่กลับไม่มีขาย ดังนั้น หากมีจำหน่ายแม้เพียงร้านเดียวย่อมขายได้อย่างแน่นอน แต่ความคิดขณะนั้นก็เก็บเข้ากระเป๋าไป เพราะเธอยังมีงานประจำอยู่ เมื่อว่างจากงานอาชีพที่สรรหาทำมาระยะหนึ่ง คุณภชสรควักแนวคิดเมื่อครั้งเป็นพนักงานบริษัทกลับมาฟื้นอีกครั้ง แต่เพราะการทำน้ำสมุนไพรไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากไม่เรียนรู้ถึงเคล็ดลับให้ถ่องแท้จริง อาจทำให้เธอไม่ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจ จึงเป็นก้าวแรกที่ทำให้เธอเข้าอบรมกับศูนย์อาชีพฯ มติชน "สามีเสิร์ชจากอินเตอร์เน็ตพบรับสมัครอบรมการทำน้ำผลไม้และน้ำสมุนไพรบรรจุขวด ของศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน เรียนเพียงวันเดียว มีประกาศนียบัตรมอบให้ เห็นว่าเป็นช่องทางที่จะทำให้เรารู้ถ่องแท้จริงๆ จึงสมัครเข้าอบรม"

ได้สูตร-แหล่งซื้อ ตั้งเป้าขายส่ง
 คุณภชสร เอ่ยถึงการอบรมกับศูนย์อาชีพฯ มติชน อย่างภูมิใจว่า เธอได้เรียนรู้หลายอย่างจากศูนย์อาชีพฯ มติชน ตั้งแต่สูตรที่อาจารย์ผู้สอนให้อย่างไม่ปิดบัง เคล็ดลับการทำเครื่องดื่มให้มีรสชาติดี แหล่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบ วิธีการเลือกซื้อเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ รวมถึงการดูแลลูกค้าและการเข้าให้ถึงหลักการตลาด ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแล้วอาจารย์ผู้สอนยังคงเป็นที่ปรึกษาที่ดี สามารถสอบถามทางโทรศัพท์ได้ตลอดเวลา เพราะความรู้ที่ได้รับจากศูนย์อาชีพฯ มติชน เต็มเปี่ยม ทำให้คุณภชสรมั่นใจว่า การเริ่มต้นกับธุรกิจผลิตน้ำสมุนไพรของเธอจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้อย่างแน่นอน ทำให้หลังฝึกอบรมได้เพียงสัปดาห์เดียวคุณภชสรเดินหน้าเข้าหาแหล่งเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์และวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำสมุนไพร เธอลงทุนซื้อใหม่ทุกชิ้นแม้กระทั่งถังแก๊ส เตา หม้อ ทัพพี และตัวกรอง ไม้เว้นแม้กระทั่งถุงมือจับของร้อน เพราะเธอต้องการให้พาสเจอไรซ์จริงๆ ดังเช่นที่เธอร่ำเรียนมา ช่วงสัปดาห์แรกของการผลิตอย่างจริงจัง คุณภชสรมีกลุ่มทดลองลิ้มรสชาติน้ำสมุนไพร 3 ชนิดแรกของเธอ เป็นชาวบ้านที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นงานบุญ เธอทำไปเลี้ยงพระและชาวบ้าน ด้วยน้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ และน้ำมะตูม ทั้งหมดบรรจุขวดสำหรับให้ชาวบ้านหิ้วติดมือกลับไปดื่มด้วย หลังเสร็จงานบุญ เธอทราบว่าชาวบ้านพูดกันปากต่อปากว่า "รสชาติดี" สร้างความมั่นใจให้เธออีกระดับหนึ่ง ลงทุนครั้งแรกด้วยเงินราว 20,000 บาท ได้ทั้งอุปกรณ์การผลิตและวัตถุดิบที่พอจะเป็นต้นทุนให้ผลิตน้ำสมุนไพรได้จำนวนหนึ่ง คุณภชสรเริ่มต้นทำการตลาดตามวิธีที่นักธุรกิจทำกัน เธอผลิตน้ำสมุนไพร 4 ชนิด บรรจุขวด สำหรับเป็นตัวอย่างให้ทดลองชิม ประกอบด้วย เก๊กฮวย เฉาก๊วย กระเจี๊ยบ และมะตูม และเก็บตัวอย่างส่วนหนึ่งไว้สำหรับทดสอบความคงทนของรสชาติ พร้อมทั้งจดบันทึกไว้ทุกครั้ง คุณภชสร นำน้ำสมุนไพรบรรจุขวด 4 ชนิด บรรทุกขึ้นหลังรถจักรยานยนต์ โดยก่อนออกเดินทางคุณภชสรตั้งเป้าการเดินทางไว้ โดยกำหนดโซนการขายไว้ เล็งกลุ่มเป้าหมายประเภทร้านค้าขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เพราะราคาขายต่อขวดอยู่ที่ 10 บาท เธอขายส่งให้กับเจ้าของร้านในราคา 8 บาทต่อขวด รับวางจำหน่าย 1 โหล แถม 1 ขวด วางจำหน่ายครบ 1 สัปดาห์จึงกลับมาเก็บเงิน ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดเช่นนี้ คุณภชสรตั้งเป้าการขายไว้ที่ 100 ขวดต่อวัน แต่ขณะนี้แม้ว่าเธอจะเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้น และยังมียอดขายไม่ถึง 100 ขวดต่อวัน แต่เธอมีลูกค้าประจำที่ต้องนำสินค้าไปส่งสัปดาห์ละ 2 วัน และจะเพิ่มวันส่งสินค้าเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ในเดือนหน้า เพราะปริมาณลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกเหนือจากการทำการตลาดแบบเดินเข้าหาลูกค้าด้วยตนเองแล้ว คุณภชสรยังมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีชั้นเชิงดี ด้วยการให้เปอร์เซ็นต์กับคนรู้จักที่มีอาชีพเซลส์อยู่แล้ว เปิดตลาดโซนที่เธอไปไม่ถึงให้อีกด้วย จึงทำให้ยอดขายและลูกค้าเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ น้ำสมุนไพร 4 ชนิด เป็นน้ำนำร่องในช่วงแรก ไม่ถึงเดือนคุณภชสรเพิ่มการผลิตรสชาติอื่นเข้าด้วย เป็นน้ำลำไย มะพร้าว โอเลี้ยง กาแฟเย็น ชาเย็น และชาดำเย็น ทั้งหมดได้รับการตอบรับอย่างดี "กำลังเพิ่มอุปกรณ์ให้พอกับการผลิต และอยู่ระหว่างหาสถานที่เฉพาะการผลิต เพราะปัจจุบันผลิตที่บ้าน แต่เพื่อความก้าวหน้าของธุรกิจที่กำลังไปได้ดี ต้องหาสถานที่ผลิต เพราะทุกสิ่งต้องพาสเจอไรซ์ทั้งหมด และต้องเพิ่มแรงงานการผลิต เพราะตอนนี้แทบไม่มีเวลาทำอย่างอื่น" ปัจจุบัน ลูกค้าเริ่มกระจายโซนออกไปกว้างมากขึ้น ยกเว้นบริเวณบ้าน ที่คุณภชสรบอกว่า ยังไม่เหมาะ เพราะเธอเห็นมีน้ำสมุนไพรยี่ห้ออื่นวางจำหน่ายอยู่ประปราย จึงตั้งใจหาลูกค้าไกลบ้านไว้ก่อน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่ทั่วกรุงเทพฯ ดีนัก แต่ยอดจำหน่ายอยู่ที่ 200 ขวดต่อสัปดาห์ ซึ่งเมื่อเทียบกับระยะเวลาเพียงเดือนเศษก็ถือว่าไปได้สวยทีเดียว อนาคตไม่ต้องถาม เพราะคุณภชสรตั้งเป้าไว้จะกระจายลูกค้าให้ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งเธอบอกว่า "กรุงเทพฯ ไม่แคบอย่างที่คิด ต้องมีร้านค้าที่ไม่มีน้ำสมุนไพรวางจำหน่าย ดังนั้น อาชีพนี้ยังไงก็ไม่มีทางตัน" และท้ายที่สุดยังฝากขอบคุณมายังศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน ที่ทำให้เธอได้มีวันนี้ พร้อมทั้งฝากหมายเลขโทรศัพท์ หากสนใจลิ้มรสน้ำสมุนไพรที่ใครๆ ยกนิ้วให้ สามารถติดต่อได้ที่ โทร. (081) 413-3432 หรือ (02) 525-0729 ได้ตลอดเวลา

ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทธุรกิจ น้ำสมุนไพร และน้ำผลไม้
ราคาขาย ขวดละ 10 บาท
จุดเริ่มต้น เข้ารับการอบรมกับศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน
การลงทุน 15,000-20,000 บาท
ข้อได้เปรียบ เป็นน้ำสมุนไพร มีวางจำหน่ายไม่แพร่หลาย
คำแนะนำ ได้สูตรจากการเข้ารับการอบรมที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน นำไปปฏิบัติตามโดยไม่ต้องปรับสูตร


ที่มา...http://info.matichon.co.th/

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Next Prev
▲Top▲