ไคฮวดจั่น เศรษฐีพันล้าน รวยได้แม้ไร้ปริญญา

| วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

'เฮียชาญ' แห่ง 'ไคฮวดจั่น'
เศรษฐีพันล้าน รวยได้แม้ไร้ปริญญา
          ชื่อของ 'เฮียชาญ' หรือ ‘เฮียยุทธ - ชาญยุทธ ฉัตรพิริยะพันธ์’ เป็นที่รู้จักในแวดวงธุรกิจอย่างมาก หลังจากออกโฆษณาสินเชื่อกับธนาคารไทยพาณิชย์ ชุดกล้าคิดก็กล้าให้ โดยประโยคแห่งความตั้งใจที่ได้กล่าวให้สาธารณชนรับรู้คือ “ผมจะขายขยะให้คนทั้งโลก”
เวลาผ่านไป เขาพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า สามารถบริหาร บริษัท ไคฮวดจั่นโลหะกิจ มีนบุรี จำกัด จนเติบโตแบบก้าวกระโดด และได้เป็นธุรกิจรับซื้อ - ส่งออกขยะรีไซเคิลอันดับหนึ่งของประเทศ


'เฮียชาญ' แห่ง 'ไคฮวดจั่น'

        ที่เขามีวันนี้ กล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะความยากจนข้นแค้นที่ทำให้ชาญยุทธในวัยเยาว์ต้องถูกส่งตัวไปเรียนที่จีน ไปอยู่บ้านญาติ ช่วยรดน้ำผัก เมื่อเรียนจบชั้น ป.6 ก็กลับมาอยู่ที่ประเทศไทยและไม่ได้เรียนต่อ หากแต่คลุกคลีอยู่กับสิ่งที่พ่อแม่ทำเพื่อเลี้ยงชีพ ซึ่งก็คือ ธุรกิจรับซื้อ - ขายของเก่า
          ปี 2528 ธุรกิจเริ่มมีปัญหาเพราะมีการปิดคลอง เรือที่ใช้ขนส่งสินค้าเข้าออกไม่ได้ มีรถใหญ่ใช้ขนของแต่ก็ไม่มีที่จอด พ่อของ
ชาญยุทธจึงวางแผนเบี่ยงเส้นทางชีวิตโดยจะไปรับค่าแรงจากงานเย็บเหมาเสื้อผ้าที่ฮ่องกง และได้ถามลูกชายว่า “ไปไหม” ชาญยุทธตอบว่า “ไม่ไป” เพราะคิดว่าธุรกิจรับซื้อและขายของเก่าน่าจะไปต่อได้ จึงหันมาเปิดร้านรับซื้อของเก่า ‘ไคฮวดจั่น’ ที่ประตูน้ำ ตั้งใจทำธุรกิจแบบเต็มตัว และออกหาลูกค้าโดยไปยืมมอเตอร์ไซค์ของเพื่อนบ้าน ขี่ตระเวนแนะนำร้านให้คนทั่วไปได้รู้จัก ให้มาขายของเก่า ขายขยะ
รีไซเคิลที่ร้าน
          แม้ไม่ได้เรียนถึงขั้นปริญญา ไม่รู้หลักของการบริหาร การจัดการ การตลาด แต่ชาญยุทธก็มีไอเดียทางธุรกิจในแบบฉบับของตนเอง เห็นได้จากการที่เขาลงพื้นที่สำรวจตลาดอย่างใกล้ชิด
          “ก็ไปดูว่าร้านไหนมีลูกค้าซื้อเยอะ โอ้โห ร้านใหญ่ เข้าคิวเลย เลยถามเขาว่า 'เฮีย วันนึงซื้อเท่าไหร่' เขาบอก 'วันนึง 30,000 – 40,000 เอง' โอย... เราซื้อ 4,000 เขาซื้อ 40,000 มากกว่าเรา 10 เท่า ทีนี้เขาปิดวันอาทิตย์ เราก็เลยเปิดทุกวัน ไม่หยุด ตอนนั้นมีลูกน้อง
คู่ใจอยู่ 2 คน เขาก็จะทำงานทุกวัน สู้ตลอด ลูกค้าทุกคนกดออดได้ทุกเวลา บางวันนอน ๆ อยู่ ตีห้าก็มีคนมากดออดแล้ว เราก็ลงมาซื้อ เราอยู่กะเช้า ส่วนแฟนอยู่กะดึก”
          เวลาที่คนอื่นหยุดพักจากการทำธุรกิจจึงเป็นเวลาที่ ‘ได้เปรียบอย่างยิ่ง’ ของทางร้าน ประกอบกับราคาซื้อที่สูงกว่าเจ้าอื่น ส่งผลให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นและเกิดการแนะนำกันแบบปากต่อปาก ธุรกิจเติบโตจนต้องขยายร้านจากตึกแถว 2 คูหา เป็น 13 คูหา และจากที่รับซื้อขยะรีไซเคิลวันละ 4,000 บาท ก็เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 20,000 บาท ภายใน 1 ปี ปีที่ 2 เพิ่มเป็นวันละ 30,000 - 40,000 บาท และในที่สุดเพิ่มขึ้นจนตัวเลขไปอยู่ที่หลักแสน
          ปี 2546 เขาขยายกิจการด้วยการไปซื้อที่ดินย่าน ถ.หทัยราษฎร์ ตั้งโรงงานอัดกระดาษที่นั่น โดยกู้เงินจากธนาคาร 50 ล้าน เพื่อใช้ขยายธุรกิจ       “ทำได้แค่เดือนกว่า ทางบริษัท สยามคราฟท์ อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตกระดาษในเครือซิเมนต์ไทยก็มาติดต่อขอซื้อกระดาษ สยามคราฟท์ฯ เขาปิดวันอาทิตย์ ผมบอก พี่... ไม่ได้นะ ผมขอเปิดวันอาทิตย์ ที่อื่นเขาปิดหมด แต่เรามีลูกค้าวันอาทิตย์เยอะมากเลย ทำไปประมาณปีนึง จากที่รับซื้อกระดาษ 1,000 กว่าตันกลายเป็น 3,000 กว่าตัน ปีที่สองขึ้นมาเป็น 5,000 กว่าตัน ขึ้นอันดับหนึ่งเลย ทางสยามคราฟท์ฯ ดีใจใหญ่ เขาถาม โห คุณชาญยุทธทำยังไง เราทำแค่บอกลูกค้าปากต่อปาก”
          พอทำโรงงานอัดกระดาษจนอยู่ตัวแล้ว ลูกค้าเรียกร้องให้เขารับซื้อโลหะ ชาญยุทธเชื่อว่า ตนทำได้ จึงไปซื้อที่ตรงถนนสุวินทวงศ์ ตั้งโรงงานรับซื้อ - ขาย และส่งออกโลหะ สแตนเลส ทองแดง ทองเหลือง ตะกั่ว อลูมิเนียม “โชคดีที่คนจีนมาซื้อทองแดงส่งไปที่จีน สมัยนู้นจีนติดอันดับซื้อเยอะที่สุด เขาก็ให้ผมเป็นตัวแทน ทำอยู่ประมาณปีนึง ก็ขยายขึ้นเรื่อย ๆ จากปีนึง 800 ตัน ขึ้นมาเป็น 2,000 ตัน พอปีที่สองขึ้นมาเป็น 3,000 - 4,000 ตัน ขายดีจนบางครั้งก็ไม่มีของจะขายให้ลูกค้า เราก็ถามเขาว่า ช้าได้มั้ย ลูกค้าที่เรารับซื้ออาจจะมาส่งไม่ทันนะ เขาบอกโอเค ได้ เราก็เลยจองขายล่วงหน้า แล้วซื้อของด้วยราคาที่สูงกว่าคนอื่น ทำให้ลูกค้าติด และบางทีก็ยอมขาดทุนกำไรเพื่อเรียกลูกค้า”
          ปริมาณการซื้อขยะรีไซเคิลในปัจจุบัน ไคฮวดจั่นรับซื้อกระดาษเดือนละประมาณ 5,000 - 8,000 ตัน กลุ่มโลหะอีกเดือนละ 5,000 ตัน รวมแล้วเกิน 10,000 ตันทุกเดือน และส่งออกขยะรีไซเคิลไปยังหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย โดยในปีที่ผ่านมา ชาญยุทธบอกว่า แม้ว่าบางเดือนจะขาดทุนเพราะราคาขายลดลง ก็ยังมีเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อสินค้าสูงถึงปีละ 8,000 กว่าล้านบาท
ด้วยประสบการณ์การทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ ทำให้ชายผู้นี้มีความหวังที่จะได้ใบปริญญาโดยที่ไม่ต้องเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย
         “ผมทำเรื่องขอปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ไปที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อปี 2551 ได้เมื่อปี 2552 ในด้านบริหารธุรกิจ ที่ผมขอได้เพราะ หนึ่ง เราทำความดี ช่วยเหลือสังคม อย่างเศษขยะ แทนที่จะทิ้ง เราเก็บมารีไซเคิล ช่วยสังคมได้เยอะ พอเรามีฐานะมากขึ้นก็ไปช่วยเหลือโรงเรียน ให้ทุนแก่เด็กยากจน แล้วการขายขยะรีไซเคิลก็ทำรายได้เข้าประเทศ ตอนนี้เริ่มคิดว่าจะทำเรื่องขอปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ต่อ (ยิ้มกว้าง)”
'เฮียชาญ' แห่ง 'ไคฮวดจั่น'
          นอกเหนือจากชีวิตด้านธุรกิจ ชาญยุทธยังบอกด้วยว่า การศึกษามีความสำคัญและควรเรียนรู้ควบคู่กันไป โดยเฉพาะในยุคนี้
          “การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งจำเป็น แต่การศึกษาในวันนี้ทำให้ความคิดความอ่านของคนไปอีกทางหนึ่ง อย่างผมจบ ป. 6 ที่จีน ทำอะไรต้องใช้ความคิดของตัวเอง สมัยก่อนเสื่อผืนหมอนใบ ต่างคนต่างไม่มีการศึกษา แต่ทำการค้าจนรวยทุกคนได้ เพราะชิงลงมือก่อนจะได้เปรียบ ณ วันนี้เสื่อผืนหมอนใบ คุณอดตายครับ เพราะลงทุนทีเป็นพันล้าน สองพันล้าน คุณจะเอาอะไรมาสู้ ไปกู้พันล้านเหรอ เจอดอกเบี้ยกินก็ปิดกิจการแล้ว ยุคนี้การศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับคนที่จะมาต่อยอดธุรกิจจากพ่อแม่ เพราะฉะนั้น จะทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ ‘ต้องขยัน’ ถ้าสู้คนอื่นไม่ได้ก็ต้องใช้ 'เวลา' เข้าสู้ เช่น เราเปิด 24 ชั่วโมง ลูกค้าจะมาซื้อขายเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วก็ต้องตามข่าวสารตลอด ผมตื่น 7.30 น. อาบน้ำ ดื่มกาแฟ เปิดไอแพดเช็คราคาทองคำ ดูค่าเงิน ดูหุ้น ดูข่าวช่อง CNN, BBC, Bloomberg ฟังไม่ออกก็ให้ลูกสาวแปลให้ ดูเสร็จต้องวิเคราะห์ แล้วตั้งราคาเปิดสำหรับซื้อขายทุกวัน เป็นการตั้งราคาเพื่อขายทั่วโลก ทั้งจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ไต้หวัน และถ้ามีของลงวันนี้กลางคืน พรุ่งนี้เช้าก็โอนให้แล้ว ที่นี่โอนเงินเลย เราสร้างเครดิตให้ลูกค้ามั่นใจ ไม่เคยโอนเงินช้ากว่า 1 วัน ถ้าใครสืบรู้ว่าผมโอนช้า จ่ายรายละ 1 ล้านบาทเลย”
          ชีวิตของนักธุรกิจหัวการค้าไม่เคยหยุดนิ่ง ต้นปี 2555 ชาญยุทธร่วมกับเพื่อนทำธุรกิจสินเชื่อไฟแนนซ์รถสิบล้อมือสอง ได้กำไรจากส่วนต่างของการซื้อรถสิบล้อจากบริษัทเพื่อน แล้วให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อรถแต่ไม่มีเงินก้อน ผ่อนจ่ายเป็นงวด ๆ รวมมูลค่ารถที่จำหน่ายได้มากกว่า 200 ล้านบาท และยังลงทุนทำธุรกิจกับ ‘เอ.เจ.พลาสท์’ ธุรกิจเม็ดพลาสติก โดยร่วมลงทุน 3 ล้านกว่าหุ้น และได้เป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 9

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Next Prev
▲Top▲