น้ำพริกสไตล์โมเดิร์น “PERB”

| วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

เพราะไม่อยากเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำให้คนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ใฝ่ฝันอยากเป็นนายตัวเองด้วยการทำธุรกิจส่วนตัว เช่นเดียวกับ ฐัญวลัย เรียบร้อยเจริญ หรือ “พราว” และวัชระ ธรรมจักร หรือ “เป้ง” ซึ่งพวกเขาได้เริ่มต้นสร้างกิจการเล็กๆ ในนาม บริษัท พราวด์ ออฟ ยู จำกัด ของตนเองขึ้นมา โดยการที่คนทั้งคู่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อตั้งใจที่จะสร้างแบรนด์สินค้าของตนเองในวัยเพียง 25 ปี และนั่นจึงเป็นที่มาของแบรนด์น้ำพริกสไตล์โมเดิร์น “PERB”

“สำหรับคนอื่นๆ มีเพียงไม่กี่ธุรกิจที่พวกเขาอยากทำ ร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ หรือ ร้านนั่งดื่ม คือสูตรในการเริ่มต้นกิจการของคนรุ่นใหม่ แต่สำหรับเราไม่ใช่ ด้วยเรามองว่ามีร้านในฝันเหล่านั้นเต็มไปหมดทั่วทุกมุมเมือง ประจวบเหมาะกับตอนนั้น เป้งนำน้ำพริกจากที่บ้านมาฝาก เมื่อเราได้ชิมก็รู้สึกว่าอร่อยมาก เขาบอกพราวว่าไม่ได้ทำเป็นธุรกิจจริงจัง เพียงแต่ทำตามออร์เดอร์ เราจึงเกิดไอเดียในการหยิบน้ำพริกมาต่อยอดโดยใส่สไตล์ของเราลงไป ซึ่งจริงๆในตลาดน้ำพริกเองก็มีผู้เล่นเยอะมาก แต่ไม่ได้เยอะในรูปแบบที่เราเป็น”

โดยพราวขยายความต่อว่า การหยิบน้ำพริกมาใส่สไตล์ที่เธอเป็น นั่นคือการนำเอาไลฟ์สไตล์ในการเลือกสินค้ามาเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบผลิตภัณฑ์ เริ่มจากการที่เธอเลือกเสพสินค้าที่ชอบ ไม่ได้เสพตามเทรนด์ บางแบรนด์ไม่ได้โด่งดัง เพราะไม่มีเงินทำโฆษณา ทว่าหากสินค้าดูดี เห็นแล้วอยากสัมผัส เมื่อสัมผัสแล้วชอบก็จะตัดสินใจซื้อ จากประสบการณ์ส่วนตัวนี้เองได้นำมาสู่การปรับใช้กับธุรกิจ ด้วยการออกแบบให้ผู้บริโภคเห็นแล้วรู้สึกว่าน่าซื้อ เมื่อสนใจแล้วเข้ามาทดลอง เมื่อชิมแล้วต้องพึงพอในความอร่อย เมื่อรสชาติถูกปากแล้วก็ต้องประทับใจในการบริการ และผลที่ตามมานั่นก็คือ ยอดขาย
“ความยากของเราคือการหยิบ Traditional food กับภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ มาผสมผสานให้เกิดตรงกลาง เราเลยคิดว่า เมื่อน้ำพริกเป็นเมนูดั้งเดิม ก็ให้รสชาติเข้มข้นกลายเป็นจุดแข็ง ส่วนความเป็นคนรุ่นใหม่ ก็แสดงออกด้วยภาพลักษณ์และการสื่อสาร และหนทางในการเข้าถึงลูกค้า ทั้งหมดนี้จึงกลายมาเป็น PERB ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นไทยกับความร่วมสมัย ซึ่งสิ่งที่เรากำลังทำคือการเพิ่มมูลค่า มีการปรับสูตร คัดวัตถุดิบที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งใบรับรองคุณภาพ เพราะในอนาคตจะมีการส่งออกไปยังต่างประเทศเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของเรา นั่นคือคนไทยในต่างแดน โดยคอนเซปต์ของสินค้าคือการคงไว้ของรสชาติดั้งเดิม เพื่อตอบโจทย์รสอร่อยของคนไทยอย่างแท้จริง”

ทั้งนี้ สองผู้บริหารเล่าถึงขั้นตอนการไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ว่าเริ่มจากการสร้างให้เกิดความรับรู้ต่อแบรนด์ไปยังลูกค้าหลักในเมืองไทยผู้มีรายได้ระดับ B-A เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีความสามารถในการเดินทางไปต่างประเทศได้บ่อยครั้ง มีคนสนิทชิดใกล้อาศัยอยู่ต่างประเทศ ก็จะสามารถสร้างให้เกิดการบอกต่อ และนำไปสู่การเป็นของฝากในที่สุด โดยการออกงานอีเวนต์จะเป็นกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ภายในประเทศ ส่วนช่องทางการสื่อสารผ่าน Instargram และ Facebook คือช่องทางในการส่งสารไปยังลูกค้าในต่างแดน

“ด้วยความที่เราค่อนข้างรู้จักคนไทยในต่างแดน เมื่อสินค้าเราเกิดการบอกต่อ ก็จะกลายเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ซึ่งเมื่อสร้างให้เกิดตรงนั้นได้ ก็จะง่ายต่อเราในการสื่อสารไปหาลูกค้า โดยที่เราไม่จำเป็นต้องทำโฆษณามากมาย เพราะ Message ที่เราส่งไป ลูกค้าสามารถรับได้โดยตรง ทุกวันนี้ลูกค้าก็เข้ามาหาเราเองมากขึ้น แม้ความเป็นจริงแล้วในตลาดนี้เราก็มีคู่แข่งมาก แต่ด้วยความที่แบรนด์อื่นมักจะนำเสนอภาพลักษณ์ในกลิ่นอายความเป็นไทยระดับสูง แต่ของเราคือความเป็นคนรุ่นใหม่ เราจึงมีความแตกต่างออกไป”
ดูเหมือนทุกอย่างก้าวของ PERB จะดำเนินไปอย่างราบรื่นในแต่ละขั้นตอน อย่างไรก็ตาม กว่าแบรนด์น้ำพริกจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ สองผู้บริหารวัย 25 เปิดเผยว่า ได้ผ่านอุปสรรคมามากมาย ซึ่งความท้าทายหลังจากดำเนินธุรกิจไปได้สักระยะคือ “หลายสิ่งไม่ได้เป็นอย่างที่คิด”

“จากเริ่มที่เรามองว่า เรามีสูตรน้ำพริกอยู่แล้ว เพียงแค่ปรับปรุงรสชาติ และเปลี่ยนดีไซน์ให้ดูดี ส่วนเราเป็นเพียงนักการตลาดของแบรนด์ พอเริ่มเข้ามาทำจริงๆ จึงรู้ว่าทุกอย่างเป็นคนละเรื่อง เพราะเราต้องเข้ามาดูแลกระบวนการผลิตเองทั้งหมด ที่สำคัญอย่างยิ่งคือต้องศึกษาว่าลูกค้าชอบอะไร คิดอย่างไร พึงพอใจกับน้ำพริกหรือไม่ เราจะต้องประมวลเอาทุกสิ่งเหล่านั้นให้รวมเป็นสิ่งเดียวกัน แล้วหาจุดกึ่งกลางระหว่างลูกค้าและตัวเรา”

ฉะนั้น “สิ่งไม่คาดคิด” สามารถเกิดขึ้นได้เสมอในการทำธุรกิจ ซึ่งกิจการใดจะได้ไปต่อหรือไม่ ต้องอาศัยวิธีคิดและการจัดการ ในเรื่องนี้ พราวชี้กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องมีแผนธุรกิจรองรับ และต้องให้ความทุ่มเทตั้งแต่เริ่มต้น
 

“ตอนแรกเราคิดว่าจะทำเป็นงานอดิเรก แต่สุดท้ายแล้วงานอดิเรกทำให้เราไปได้ไม่ไกล เราจึงรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เรายังไม่ก้าวอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง สุดท้ายก็ไปได้แค่จุดๆ หนึ่งแล้วก็ต้องหยุด หลังจากนั้นเราจึงทุ่มเทกับงานมากๆ สิ่งจำเป็นคือต้องมีการวางแผนธุรกิจ เพราะธุรกิจที่สำเร็จต้องมีแผนการ ดังนั้น เราต้องรู้เงินเพียง 1 บาทที่ลงไป เราลงไปกับอะไร แล้วแผนนั้นเองที่จะมาช่วยยามมีปัญหา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมา เรามีแผนทุกอย่างรองรับ”

นอกจากนี้ เป้งยังกล่าวเสริมอีกว่า R&D เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือต้องมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ และต้องฟังเสียงตอบรับจากลูกค้า ว่ามีมุมมองต่อสินค้าอย่างไร มีข้อเสียหรือไม่ ข้อเสียนั้นคืออะไร เพื่อเก็บข้อมูลมาช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งข้อเสียที่ผู้ประกอบการมองเห็นในสินค้าของตน กับสิ่งที่ลูกค้าเห็นนั่นต่างกัน โดยลูกค้าจะเห็นลึกกว่าเสมอ ฉะนั้น หน้าที่ของนักธุรกิจรุ่นใหม่อีกประการ คือควรฝึกตนให้มองเห็นข้อเสียมากกว่าลูกค้า เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการตอบทุกโจทย์ของผู้บริโภคต่อไป

“ที่เห็นว่าคนรุ่นใหม่เข้าใจผิดกันเยอะมาก คือเพียงไปจ้างนักออกแบบแล้วจะทำให้สินค้าขายได้ ต้องบอกว่าไม่ใช่ เพราะในความเป็นจริงแล้วแบรนด์คือทุกอย่าง คือตัวเป้ง คือตัวพราว คือตัวลูกค้า ไม่ใช่คนซื้อเพราะแพ็กเก็จจิ้งสวย ด้วยความที่เราไปออกงานมาหลายครั้ง เราจึงรู้ว่าสุดท้ายแล้วลูกค้าก็เสพคุณภาพ เขาต้องมาชั่งราคากับสิ่งที่เขาได้รับ ฉะนั้นภาพลักษณ์เป็นเพียงส่วนเริ่มต้นเท่านั้น”

เพราะขับเคลื่อนด้วยแนวคิดของคนรุ่นใหม่ เชื่อว่าน้ำพริก PERB ก้าวไปได้ไกลอย่างแน่นอน!!!


ที่มา..http://www.smethailandclub.com/knowledges-view.php?id=599



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Next Prev
▲Top▲